การกำหนดรู้นิวรณ์

นิวรณ์ หมายถึง ธรรมอันกั้นจิตของบุคคลไว้ไม่ให้บรรลุความดีงาม นิวรณ์แต่ละประเภทที่เกิดขึ้นผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจและกำหนดให้ถูกต้อง ถ้าไม่กำหนดรู้หรือแก้ไขให้ถูกต้องแล้วสิ่งนี้ก็จะสะสมอยู่ในใจจนยากแก่การแก้ไข ทำให้เราไม่ประสบความก้าวหน้าใน การปฏิบัติหรือการทำความดีในด้านอื่น ๆ อีกต่อไป วิธีกำหนดมี ดังนี้

วิธีกำหนดนิวรณ์ ๕ คือ

    1. กามฉันท์นิวรณ์ เมื่อกามฉันท์นิวรณ์เกิดขึ้นจะทำให้ยินดีหรือพอใจกับกามคุณอารมณ์มีรูป เสียง กลิ่น รส การถูกต้องสัมผัส ขณะดีใจ กำหนดว่า ดีใจหนอ ๆ ๆ พอใจขึ้นมากำหนดว่า พอใจหนอ ๆ ๆ ขณะชอบใจ กำหนดว่า ชอบใจหนอ ๆ ๆ
    2. พยาบาทนิวรณ์ เมื่อพยาบาทนิวรณ์เกิดขึ้นจะทำให้รู้สึกไม่ยินดีไม่พอใจ ขณะเสียใจกำหนดว่า เสียใจหนอ ๆ ๆ ไม่พอใจ กำหนดว่า ไม่พอใจหนอ ๆ ๆ เกลียดขึ้นมา กำหนดว่า เกลียดหนอ ๆ ๆ โกรธขึ้นมากำหนดว่า โกรธหนอ ๆ ๆ พยาบาทขึ้นมา กำหนดว่า พยาบาทหนอ ๆ ๆ
    3. ถีนมิทธนิวรณ์ ความที่จิต หรือเจตสิกท้อถอยจากอารมณ์ กรรมฐานที่ผู้ปฏิบัติกำลังกำหนดอยู่ จนทำให้เกิดอาการง่วงเหงา ท้อถอย หดหู่ เกียจคร้าน ซึมเศร้า เป็นต้น ขณะง่วงกำหนดว่า ง่วงหนอ ๆ ๆ ท้อถอยหนอ ๆ ๆ หดหู่หนอ ๆ ๆ เกียจคร้านหนอ ๆ ๆ ซึมหนอ ๆ ๆ เศร้าหนอ ๆ ๆ กำหนอให้นักแน่น ถี่เร็ว ไม่หยุดยั้งต่อเนื่อง อุปมาเหมือนการหวดไม้เรียว หรือแล้ลงไปยังคนหรือสัตว์อย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งคนหรือสัตว์นั้นทนอยู่ไม่ได้ต้องดิ้นรนจากไป เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดความง่วงในลักษณะเช่นนี้แล้ว จะทำให้จิตและเจตสิกตื่นตัว จนสามารถขับไล่ความท้อถอย หดหู่ ซึมเศร้าให้เบาบางและหายไปได้ ในบางครั้งเราอาจแก้ไขคามง่วงด้วยการเดินจงกรมให้เร็วขึ้นหรือมากขึ้น โดยช่วงที่ง่วงซึม อาจจะเดินจงกรมให้มากกว่านั่งประมาณ ๑๕-๓๐ นาที ก็จะทำให้ดีขึ้นบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะหายไปเลยทีเดียว ผู้ปฏิบัติจำต้องเพียรพยายามเฝ้าดูด้วยสติอย่างต่อเนื่อง อย่าเปิดโอกาสหรือสร้างเหตุปัจจัยอื่น ๆ จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดความง่วง เช่น ทานอาหารที่ย่อยยาก หรือทานมากเกินไป เป็นต้น
    4. อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ ได้แก่ ความฟุ้งซ่านและรำคาญผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะขลาดกลัวต่อความฟุ้งซ่านค่อนข้างมาก ความฟุ้งซ่านกับความคิดมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ความคิดเมื่อเกิดขึ้นจะมีลักษณะที่เป็นคำ ประโยคหรือเรื่องราวสั้น ๆ ส่วนความฟุ้งซ่านนั้นเป็นเรื่องราวที่ไม่ปะติดปะต่อ โบราณท่านอุปมาอุปมัยเหมือนกับการต้มน้ำร้อน ความคิดเหมือนกับการต้มน้ำที่กำลังเริ่มจะเดือด จะมีฟองอากาศผุดขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนความฟุ้งซ่าน เมื่อแยกแยะได้ถูกต้องแล้วก็พุ่งเป้าสู่การกำหนดรู้อาการนั้น ๆ ทันที ขณะฟุ้งกำหนดว่า ฟุ้งหนอ ๆ ๆ หงุดหงิดหนอ ๆ ๆ รำคาญหนอ ๆ ๆ สับสนหนอ ๆ ๆ วิธีกำหนดควรจะกำหนดให้ถี่เร็วฉับไวต่อเนื่อง ไม่เปิดโอกาส ไม่ให้เกิดช่องว่า หรือกำหนดในลักษณะที่เน้นย้ำทิ้งจังหวะบ้าง เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่มีการผ่อนคลาย จะทำให้ไม่เครียดมาก
    5. วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ ความลังเลสงสัย หรือวิตกกังวลขณะสงสัย กำหนดว่าสงสัยหนอ ๆ ๆ วิตกหนอ ๆ ๆ กังวลหนอ ๆ ๆ พยายามกำหนดให้ตรงกับความรู้สึกในขณะนั้นให้มาก จะทำให้การกำหนดนั้นตรงกับสภาวะที่เป็นอยู่ขณะนั้น จิตจะแนบแน่นและสติจะระลึกรู้อย่างเท่าทันอารมณ์ การกำหนดทุกครั้งอย่าคาดหวังอะไร พยายามให้จิตเกาะติดอยู่กับปัจจุบันขณะให้มากเท่าที่จะมากได้

การกำหนดด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ นับเนื่องโดยอนุโลมตามการเจริญ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งกล่าว โดยสรุปในแง่ของการปฏิบัติแล้วก็ได้แก่การกำหนดรู้ รูปนาม ตามความเป็นจริงนั่นเอง (กายฯ=รูป. เวทนาฯ,จิตฯ=นาม. ธรรมฯ=เป็นได้ทั้งรูปและนาม)

อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ประโยชน์ของการกำหนดรูป – นาม (ปรมัตถอารมณ์)

    1. จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ (ขณิกสมาธิ)
    2. เกิดสติสัมปชัญญะละอัตตาตัวตน
    3. สั่งสมเหตุปัจจัย เพื่อเว้นไกลจากกิเลส
    4. รู้ถ้วนทั่วอย่างวิเศษ ในปัจจุบันขณะ
    5. ละความเกียจคร้าน สะสมญาณหยั่งรู้
    6. กอบกู้อิสระภาพกำราบกิเลส

ประโยชน์ของการนั่ง กำหนดอิริยาบถ

    1. จิตตั้งมั่น และเป็นสมาธิได้ง่าย
    2. สภาวธรรมปรากฎค่อนข้างชัดเจน
    3. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดเจน
    4. เป็นอิริยาบถที่เอื้อต่อการบรรลุ มรรคผล นิพพาน ได้มากกว่าอิริยาบถอื่น ๆ
    5. เป็นอิริยาบถที่รวมความพร้อม เพื่อการบรรลุธรรมในขั้นต่าง ๆ กระทั่งสูงสุด

 

ประโยชน์ของการยืนกำหนดอิริยาบท
    1. ทำให้การกำหนดเกิดความต่อเนื่องกัน
    2. จิตเป็นสมาธิได้ค่อนข้างง่าย
    3. ทุกขเวทนามีน้อย ใช้พื้นที่น้อยในการกำหนด
    4. ทำลายบัญญัติของรูปยืน เป็นสภาพรู้อาการ
    5. ทำให้เข้าใจสภาพของเหตุปัจจัย อันอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ประโยชน์ของการเดินจงกรม ๕ ประการ

    1. อดทนต่อการเดินทางไกล
    2. อดทนต่อการกระทำความเพียร
    3. ช่วยย่อยอาหาร
    4. ช่วยขับลมออกจากตน
    5. สมาธิที่ได้แล้วตั้งอยู่ได้นาน

ประโยชน์ของการกำหนดอิริยาบถย่อย

    1. ปิดช่องว่างการกำหนดในอิริยาบถอื่น ๆ
    2. ทำให้การกำหนดมีความต่อเนื่องไม่ขาดสาย
    3. วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เกื้อกูลกันค่อนข้างมาก
    4. ส่งเสริมให้อินทรีย์ ๕ เท่ากัน (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา)
    5. มีความรอบคอบ ไม่หลงลืม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในด้านอื่น ๆ ด้วย

ประโยชน์ของการนอนกำหนดอิริยาบถ

    1. ช่วยให้หลับง่าย เพราะไม่กังวล
    2. จิตเป็นสมาธิได้ง่าย
    3. เป็นการพักผ่อน และเป็นการเชื่อมโยงอิริยาบถอื่นให้สม่ำเสมอ

ข้อที่ควรระวัง

    • ถีนะมิทธะ ความง่วงเหงา หาวนอน เชื่องซึม เกิดขึ้นได้ง่าย
    • ไม่ควรนอนมากเกินไปสำหรับผู้มุ่งปฏิบัติจริง ๆ อย่างมากไม่ควรเกิน ๖ ชั่วโมง
    • ความเกียจคร้านเกิดขึ้นได้ง่าย อย่าเห็นแก่นอนเกินไป
    • ผู้ปฏิบัติที่มุ่งคามสุขสงบในชีวิต ต้องการหลับพักผ่อนก็ไม่ต้องตั้งใจกำหนดมาก

 

อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔

    1. ทำให้สุขภาพทางร่างกาย และจิตใจดีขึ้น
    2. ทำให้จิตใจเบิกบาน เอิบอิ่ม แช่มชื่น
    3. ความวิตกกังวล และความเครียดลดลงอย่างมาก
    4. เป็นผู้มีสติรู้เท่าทัน มีความผิดพลาดน้อย
    5. มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ดีขึ้น
    6. ไม่ตกใจกลัง เพราะเจริญสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ
    7. มีความกล้าหาญ ในการกระทำคุณงานความดีอย่างสม่ำเสมอไม่ท้อถอยเบื่อหน่าย
    8. ความยึดมั่นถือมั่นลดลง เพราะเข้าใจในสภาพที่แท้จริงของชีวิต (ขันธ์ ๕)
    9. สามารถทำลายความโลภ (อภิชฌา) ความโกรธ (โทมนัส) ให้ลดลงหรือหมดไปได้
    10. ชื่อว่าเป็นการเตรียมความพร้อมและได้สะสมเหตุปัจจัยเพื่อการู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ อันจะนำไปสู่การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส (ความยึดมั่นถือมั่นด้วยโมหะ) และกองทุกข์ทั้งมวลได้ในปัจจุบันชาตินี้ หรือถ้าผู้ปฏิบัติกระทำอย่างต่อเนื่องจะไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างช้าควรจะได้บรรลุ อริยมรรค อริยผล อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน ดังพระพุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ในท้ายสติปัฎฐานสูตรคัมภีร์มัชณิมนิกาย มูลปัณณาสก์