บันทึกธรรมจากหลวงปู่ท่อน ญาณธโร (พระราชญาณวิสุทธิโสภณ)

·       คำพูดที่ไม่พิจารณาก็ย่อมกระทบกระเทือนผู้อื่น ให้พิจารณากลั่นกรองให้ดีเสียก่อนจึงค่อยพูด

·       นิพพานใจจะต้องเด็ดเดี่ยวมากนะ   ต้องไม่ห่วงใคร   จะต้องไปคนเดียว

·       เกิดบังดับ โลกบังธรรม งามบังผี ดีบังจริง สมมติบังวิมุตติ หลักธรรมบังพระนิพพาน

·       แม้ภูเขาสูงแสนสูง หากบุคคลผู้มีความเพียรพยายามปีนป่ายขึ้นไปจนถึงยอด ภูเขาสูงแสนสูงก็ต้องอยู่ใต้ฝ่าตีนของคนผู้นั้น

·       จิตหรดี คือ จิตที่เด็ดเดี่ยว   ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหวไปกับอะไร   เป็นมงคลอย่างยิ่ง

·       หลวงปู่มักเตือนว่า   คนดีชอบแก้ไข   คนจัญไรชอบแก้ตัว   คนชั่วชอบทำลาย   คนมักง่ายชอบทิ้ง   คนจริงชอบทำ  คนระยำชอบติ

·       อย่าส่งจิตออกนอก ส่งออกมันเป็นบ่วงแห่งมาร

·       อย่ากินของร้อน (ราคะ โทสะ โมหะ) อย่านอนบนไฟ (โลภ โกรธ หลง) ให้ไปอย่างแร้ง (ไม่ติด ไม่สะสม) แสวงหาบริสุทธิ์ (ของที่ชอบธรรม)

·       อย่าไปรีบ ไปเร่ง อย่าไปเคร่ง ไปเครียด ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ   เวลาจะได้ มาเองนั่นแหละ   อย่าไปยึดมั่นในสิ่งใดๆ   แม้การปฏิบัติ

·       อย่าไปสนใจจิตของผู้อื่น   จงสนใจจิตของตน

·       อาหารบิณฑบาต  ประเสริฐกว่ารับนิมนต์  หรือเขามาส่งตามวัด

·       หลวงปู่ไปเมตตาคนป่วยด้วยคำเตือนใจสั้นๆ ว่า   รู้อยู่ที่ใจได้ไหม

·       ใครจะเป็นอย่างไรก็ยิ้ม   ยืนยิ้มดูไปเฉยๆ

·       เราคนเดียวเที่ยวรัก   เที่ยวโกรธ  หาโทษใส่ตัว

·       ให้มีสติตามดูจิต   เหมือนคนเดินบนถนนลื่นๆ   ต้องระวังทุกก้าว ให้มีสติจดจ่อไม่วาง   ดูจิตมันจะปรุงไปไหน   จะคิดไปไหน   จดจ่อดูมันก็ได้   แน่ๆ จะไปไหน     ถ้ามันดื้อนัก ถ้ายังไป   เราจะไม่นอนให้นะ

·       (หลวงปู่เมตตาเล่าเรื่องนางปฏาจาราเถรี) ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเธอในครั้งนี้ใครทำ ไม่ใช่เธอทำเองหรือ เพราะความรัก ความยึดมั่นในสิ่งรัก จึงทำให้ทุกข์ มีรักที่ไหน มีทุกข์ที่นั่น

·       เวลาไหนเราไม่ปรุงไม่แต่งไปตามสังขาร ราคะ โทสะ โมหะ สังขารปรุงไม่ได้ เรียกนิพพานชั่วขณะ

·       ให้พิจารณาจนเห็นทุกข์ในโลก   เห็นโทษของกาม

·       รักษาจิตให้ดี   มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่อยู่ของใจ

·       ให้สำรวมอินทรีย์   พิจารณาวิปัสสนาภูมิ อริยสัจ ๔ มรรค ๘ คือ ทางเดิน

·       ตามดูอาการหลับให้ละเอียด   มันค่อยๆ หลับไปอย่างไร

·       เมื่อเกิดความปรุงแต่ง ก็ให้รู้ รู้แล้วพิจารณาตลอดสาย พิจารณาให้เกิดปัญญา รู้แล้วดับ

·       สมาธิ คือ สมาธิ   ยังเป็นสมุทัย   พอถอนให้พิจารณากาย   เอาให้มันเบื่อหน่าย   ไม่งั้นจะเกิดทิฐิว่าตัวได้ ตัวถึง   เป็นวิปลาส

·       พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงเอาชนะความเบียดเบียนด้วยความไม่เบียดเบียน   ชนะคนไม่ดีด้วยความดี   พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้

·       น้ำในน้ำนิ่ง จะเห็นปลา เห็นทรายชัด   ถ้าน้ำกระเพื่อมก็ไม่เห็น เปรียบกับจิตที่เป็นหนึ่งหยุดนิ่งย่อมรู้หมด   มีอะไรรู้หมด   รู้จิตผู้อื่นต้องทำให้เป็นวสีจึงจะรู้ได้ตลอด

·       วาจาใดที่ทำให้ตนเองบ้าง ทำให้ผู้อื่นบ้างไม่สบายหู ไม่สบายใจ วาจานั้นถือว่าเป็นวาจาที่ไม่ควรพูด

·       เมื่อนกจับต้นไม้ต้นใด มันก็ถือว่าสักแต่จับอยู่เท่านั้น เมื่อบินไปแล้วก็หมดเรื่องไม่มีความอาลัยกับต้นไม้นั้น

·       อริยทรัพย์เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิงได้  ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายใดๆ ทำให้ใจไม่อ้างว้างยากจน เป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย

·       ต้องรวมพลังจิตไปอยู่จุดเดียว  จึงเกิดพลังพิเศษ   จึงเห็นธรรม

·       ความสันโดษ มักน้อย  เป็นทรัพย์อันประเสริฐของผู้ต้องการความพ้นทุกข์

·       ผู้ใดได้รับความสงบมากๆ คนนั้นคนรวย   ผู้ใดสะสมกองกิเลสมากๆ มีรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์มากๆ ฟุ่มเฟือยอยู่ในกามสุข คนนั้นเป็นคนจน มีหนทางถึงหายนะแน่นอน

·       อวิชชา คือความไม่รู้   ถ้ารู้อยู่เป็นวิชชา

·       อย่าเอาแต่จะชนะอย่างเดียว เสียงแข็งขึ้นเพราะจะเอาชนะกัน ยิ่งแข็งยิ่งแตกหักง่าย

·       ใจมันต้องเผ็ดเด็ดเดี่ยวลงไป   ทำความเพียรแผดเผากิเลสให้หนักแน่น

·       จงอยู่กับพระวินัยให้เคร่งครัด

·       ผู้จะไปนิพพานต้องไม่มีอะไรข้องสักอย่าง   รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ไม่ข้อง   ต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย กินง่าย อยู่ง่าย นอนง่าย มีแต่ง่ายๆ มันก็ไม่ข้อง

·       ใครจะว่าชั่วก็ตามที ใครจะว่าดีก็ตามชัง อยู่อย่างนั้นแหละ  ไม่มีดี ไม่มีชั่วตามใครทั้งนั้น   โลกธรรมถูกต้องไม่หวั่นไหว สบายตัวคนเดียวก็พอ

·       คนจะรวยก็เพราะรวยน้ำใจมาก่อน   คนจะจนก็เพราะจนน้ำใจมาก่อน

·       ถ้าตั้งสติแล้วไม่ห่วงใคร ใครจะเป็นใครจะตายมันเรื่องของเขา เรื่องของเรามีหน้าที่ภาวนา

·       ความเกษมสุข ความไม่เศร้าโศก เป็นมงคล ใจจะรื่นเริงเสมอ ถ้าเศร้าโศก จะเสียมงคลไปหมด   เหมือนต้นไม้มันเฉาแล้ว  น่าดูไหม เอาน้ำมารด เอาปุ๋ยมาใส่ชุ่มชื่นขึ้นมามันเป็นยังไง   มันสดชื่นน่าชม

·       ใจต้องให้ขาดจากความเกี่ยวความข้อง  ตัดน้ำยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไร   ตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตา  มีเมตตาอยู่ ก็ข้องอยู่ ก็ติดอยู่นั้นแหละ

·       ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้ตกไปสู่โลกชั่วทุรกันดาร

·       กรรมฐานอะไรมันถูกจริต อะไรมันเป็นที่สบายก็เอาอันนั้น ไม่มีกฎบังคับกันหรอก

·       ใครจะว่านินทา ช่างเขาเฉยไว้ก็ดีเอง

·       การทำความเพียร   อย่าหลอกลวงตัวเอง  ให้เอาจริงเอาจังกับมัน

·       ถ้าปล่อยใจคิดไปทางอื่นก็ใช้ไม่ได้ ทำให้เราหลง หมดท่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

·       สนิมกินเหล็ก   กิเลสกินใจ

·       พระคุณต้องทดแทน   ถ้าเคียดแค้นต้องอโหสิ   อเวรัง อะสะปัตตัง   พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่จองเวร   เป็นผู้อโหสิ

·       ทานัง เทติ การให้ทานเป็นเครื่องขัดเกลาอันแรก   ทำบ่อยๆ จะเกิดความไม่เห็นแก่ตัว  รู้จักเสียสละ ไม่หวงแหน ไม่เหนียวแน่น

·       สีลัง รักขติ เครื่องขัดที่สอง ให้รักษาศีล ๕ ให้ครบ เพราะศีล ๕ เป็นหลักประกันของสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข   รักในทุกๆ ชีวิตเหมือนเป็นญาติของตน

·       ศีลมีอยู่ ๓ แบบ คือ สัมปัตตวิรัต คืองดเว้นเอาเอง ตั้งใจงดโดยไม่ต้องขอศีลจากพระ สมาทานวิรัต คือ สมาทานศีลกับพระ สมุทเฉทวิรัต คือ ศีลของเหล่าพระอริยเจ้า  ไม่ต้องสมาทานอีกแล้ว

·       บางครั้งเราก็พูดแบบห้วนๆ ให้หมู่อยู่เหมือนกัน ใครฟังเป็นก็ไม่โกรธ ใครฟังไม่เป็นก็โกรธ

·       ผู้ถึงพร้อมด้วยทาน ศีล ภาวนา ได้ชื่อว่ามีใจที่พัฒนาแล้ว เจริญแล้ว จะไม่มีทางเอารัดเอาเปรียบ มีแต่การเสียสละ   จะอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข

·       บุคคลใดเป็นคนเลี้ยงง่าย มีกิจวัตรประจำวันที่เรียบง่าย ใจจะสบาย การปฏิบัติก็รวมใจเป็นหนึ่งได้ง่าย   ความวุ่นวายก็น้อยลง   ความกังวลยึดติดจะไม่มี

·       ทรัพย์ภายใน ท่านว่า แสวงรู้ แสวงอ่าน แสวงฟัง แสวงเรียน นี่เป็นทรัพย์ภายในแต่ถ้าท่านผู้ใดปล่อยให้วันเวลาล่วงไปๆ ไม่แสวงหาทรัพย์เหล่านี้ไว้ในใจ ก็จะโง่ไม่ฉลาด   จะทำให้เป็นคนจนได้

·       ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าบาป บุญ เวรกรรมนั้นมีจริงต้องสร้างศรัทธาให้เข้มแข็งขึ้น   จึงจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำแต่ความดี

·       ถ้าไม่ติดในตัวเจ้าของก็ไปได้แล้ว...สบาย

·       ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน   จะทำบาปทำบุญก็ใจเป็นไปก่อน

·       โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อการทำบาปไม่กล้าทำบาป   แม้ถูกจ้างวาน   ถ้ารู้ว่าเป็นบาปเราก็ไม่กล้าทำ ยอมอด เราจะเกิดโอตตัปปะ  เพราะฉะนั้นจิตใจเราจะสะอาดบริสุทธิ์มาก

·       เวลาพูด ให้พูดด้วยความมีสติ มันจึงเป็นสาระเป็นประโยชน์ ถ้าพูดด้วยความไม่มีสติมันเฟ้อ   ดูอย่างเวลาที่หลวงปู่มั่นท่านพูด ไม่ว่าที่ไหนๆ เป็นสาระออกมาน่าฟังทั้งนั้น   เพราะท่านพูดด้วยความมีสติ

·       ถ้าตั้งใจที่จะภาวนา อย่าส่งจิตไปทางอื่น ให้รู้อยู่ในกายในใจของเรานี่แหละ ถ้ายังตามความคิดอยู่ไม่ใช่ภาวนา

·       ถ้าคนมีสติแล้วไม่พูดพล่ามอะไรหรอก อยู่กับสติของตัว   ไม่พูด..เสียเวลา

·       ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ให้เคารพต่อการฟังธรรมด้วยใจจริง ไม่ส่งจิตไปทางอื่น เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระเข้ามาสู่ใจของเราจริงๆ

·       เรื่องการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอะไร ปฏิบัติจิตปฏิบัติใจของเรานี่แหละ ทำอย่างไรใจของเราจะสะอาดหมดจด   ปราศจากมลทิน ปราศจากโทษทั้งปวง

·       ผู้ที่มีจิตใจผ่องใส สะอาด ไม่มีโทษจะมีหน้าตาผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่น ไม่มัว เป็นที่น่าคบค้าสมาคมด้วย   บุคลิกลักษณะนั้นบ่งบอกถึงความสุขของใจ

·       เรื่องจิตไม่ใช่เรื่องอะไร นอกจากการตั้งสติไม่ให้เผลอ จะทำกิจอันใด ก็ทำด้วยความรู้ไม่ใช่ด้วยโมหะ โมหะ คือ ความหลงความไม่รู้ เมื่อเราไม่รู้มันก็ปรุงเราแต่งเรา

·       วาง....เฉย   มันก็ไม่ติดภพติดชาติ

·       เวลาเรายืนเราก็มีสติ เราเดินเราก็มีสติ เรานั่งเราก็มีสติ เรานอนเราก็มีสติ จนกว่าจะหลับไป อยู่กับสติปัฏฐาน ๔   มีสติรู้อยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรมนี่แหละ

·       หลวงปู่มักเมตตาเตือนพระเณร ให้รู้จักตน รู้จักบุคคล รู้จักกาล รู้จักประมาณ

·       คนเราถ้าไม่ปฏิบัติธรรมแล้ว เรียกว่า ย่ำต้นกิเลส เหยียบย่ำต้น กินแต่ผลย่อมมีแต่จะเสื่อมไปสิ้นไป   ถ้าปฏิบัติธรรมแล้ว   เรียกว่าบำรุงต้นให้งามจึงออกดอกออกผลให้ได้บริโภคใช้สอย

·       พระเอาสิ่งใดที่พอเหมาะพอดี เราก็เอาสิ่งนั้น   อย่าให้มันเกินไป   เป็นธรรม

·       เราอยู่ในโลก อย่าฝืนโลก   ถ้าฝืนโลกมันผิดธรรมดา ฝืนธรรมดา

·       ถ้าเป็นพระควรพิจารณาในการรับ แต่ถ้าเป็นแพะเอาแหลกทุกอย่าง ผิดธรรมผิดวินัยก็ไม่ใส่ใจ

·       สิ่งใดที่ผิดธรรมผิดวินัย พวกเราอย่าทำ อย่าฝ่าฝืนคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาทำตามธรรมตามวินัย ให้เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ก็เป็นธรรมไปเรื่อยๆ ไม่เหยียบไม่ย่ำจะมีแต่ความเจริญ

·       ราคะไม่มีโทสะไม่มีโมหะไม่มี ความดึงดูดของโลกดูดไม่ได้เลย เพราะไม่มีสิ่งที่จะดึงดูดกันได้แล้ว เพราะฉะนั้นพระอริยเจ้าท่านไปไหนมาไหน ท่านเหาะเอาเพราะโลกไม่ดึงดูด

·       ผู้ภาวนาชั้นยอด ท่านเพียรฆ่าความโกรธให้มันหมด ฆ่าความโลภให้มันหมด  ฆ่าความหลงให้มันหมด

·       ไปเดือดร้อนอะไรกับคนนินทา ใครนินทาเราไม่ได้ยินไม่ใส่ใจก็สบาย   คนนินทาน่ะเป็นยาชูกำลังที่จะเตือนตัวเอง เขาติดีกว่าเขาชม  จะได้รู้ตัว ถ้าเราเป็นอย่างนั้นจะได้ปรับปรุง เราจะไปโกรธเขาทำไม  ถ้าไปโกรธเขาก็เรียกว่าเราแพ้ตัวเอง

·       ใครเป็นคนประคบประหงม ใครเป็นคนเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ใครเป็นคนดูแลให้ความปลอดภัย   ผู้นั้นคือ บิดา มารดา

·       ไม่ต้องรู้อะไรมาก รู้ภายในน้อยๆ ก็ตามคำสั่งสอนน้อยๆ มันก็กว้างออกมาได้รู้ทุกขัง รู้อนิจจัง รู้อนัตตา   รู้แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว

·       สังขารความคิดปรุงแต่ง  มันไม่ใช่เรา แต่มันลากเราให้ติดให้ทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้นเพราะฉะนั้นจงอย่าเชื่อสังขาร

·       เรียนทางโลก เรียนไปๆ ก็ยิ่งหนาไปเรื่อย  ไม่เบาบางได้เลย     เรียนทางธรรมเรียนละ ละโลภ ละโกรธ ละหลง ละกิเลสตัณหา มันก็เบาไปๆ จนไม่มีภาระ หมดภาระ

·       ธรรมะแสดงอยู่ทุกเมื่อ เกิดอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาย่อมโอปนยิโก คือ น้อมเข้ามาใส่ตัวเอง น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวเอง  เมื่อพิจารณามากเข้าก็จะปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน

·       กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอันตรายเด้อลูกหลานเอ๋ย เป็นกิเลสอย่างน่ากลัว ร้อนกว่าไฟ ใสกว่าแก้ว บ่มีเขี้ยวกัดกินคน กิเลสมันกัดกินคน   เราจะทำตามมันอยู่หรือ เราต้องฝืนมันบ้างสิ  อย่าไปตามใจมัน

·       รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง รู้จักจับ รู้จักวาง รู้ทางพระนิพพาน

·       บุญกุศลเกิดขึ้นที่ใจเรา ถ้าใจเรามีศีล มีสมาธิ มันก็เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าใจของเราไม่มีศีลไม่มีสมาธิ ไม่มีความมั่นคงอะไรเลย มันก็ไม่เกิดปัญญา ไม่สิ้นสงสัยได้

·       ไม่ต้องถามปัญหาอะไรหลาย ไม่มีปัญหาไม่ต้องสงสัยอะไร มีความสงสัยเกิดขึ้น รู้อยู่ อย่าไปตาม ถ้าปล่อยให้มันสงสัย  มันก็สงสัยเรื่อยไป รู้เท่าทันความสงสัยก็พอ

·       อยู่ในผ้าเหลืองเป็นเพศอันสงบ เป็นเพศอันสบาย เป็นเพศอันอุดม ให้รู้จักรักษา รู้จักทำความเพียร ถ้าละความเพียรก็จะเวียนไปหาความมักมาก

·       ใจมันหยุดนึกหยุดคิด มันสบายจริงๆ ไม่มีเรื่องร้อนมาปรุงตัวเอง นั่งสบาย นอนสบาย เป็นเสรีเต็มตัว กิเลสมันปรุงออกไปมันร้อน พอเห็นหน้ามันมาก็รู้ทันทีพอแล้วๆ ตัวเองสอนตัวเอง รู้เท่าเอาทัน  อย่าให้มันปรุง

·       เมื่อได้อะไรมาก็ว่าของกูๆ ไม่ปล่อยไม่วางได้เลย กอดทุกข์อยู่นั้นแล้ว ปล่อยไม่ได้เลย

·       จะเป็นพระ เณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ดีได้ต้องมี สติสัมปชัญญะ ระลึกได้อยู่เสมอรู้ตัวอยู่เสมอ   ต้องฝึกให้ยิ่ง

·       บวชให้พ่อให้แม่  อย่าทำศีลของเราให้ขาดมันไม่ดี อย่าเห็นแก่ความสนุกสนาน กิเลสมันบังคับไปอย่างนั้นอย่างนี้ จะทำไปตามอำนาจกิเลสมันไม่ถูก อดกลั้นไว้บ้าง

·       อย่ากินสมอยาก อย่าปากสมเคียด  เป็นคำที่หลวงปู่เตือนลูกศิษย์ลูกหาเสมอๆ

·       เรื่องที่แล้วไปแล้ว มันก็แล้วไปแล้ว จะเอามาคิดอะไรอีก ผ่านไปแล้ว อย่าเอามาคิด  จิตจะฟุ้งซ่านขุ่นมัว

·       ถ้าจิตใจเศร้าโศกไม่เบิกบานร่าเริงแล้วเสียมงคลไปหมด ใจอภัย แต่ถ้าจิตใจไม่เศร้าไม่โศก   มีแต่ร่าเริงเกษมสำราญแล้ว  เป็นมงคลอย่างยิ่ง

·       ธรรมดาคนหลงทั้งหลายเขาไม่เคยพอ  มีหนึ่งมีสองแล้วเขายังหาเอาใหม่ต่อไปอีกเรียกว่าคนโลภ โลภในกาม ไม่รู้จักเบื่อจักหน่าย เมื่อไหร่ที่มันเบื่อมันหน่ายจะรู้จักเองหรอก โอ! มันทุกข์ขนาดนี้หนอ

·       แต่งงานแล้วมันสุขหรือทุกข์ มันทุกข์หนักจริงๆ สุขนิดเดียวเอง   อุ้มท้องก็ลำบากแสนสาหัส   พอคลอดลูกก็แทบล้มแทบตายไป  สร้างโลกเรียกว่าสร้างกองทุกข์

·       ต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์ในโลก เห็นโทษของกามเสียก่อน จึงอยู่สบายในพรหมจรรย์

·       มัวแต่พูดสอนคนอื่น ตัวเองยังสงสัยอยู่เลย ยังไม่สิ้นอาสวะ ไม่ดีเท่าไรหรอก

·       มีสุขอยู่ที่ไหน มีทุกข์อยู่ที่นั่น   หาสุขจากกาม หาสุขในโลก จะได้มาจากไหน มันคือการหาสุขในทุกข์ สุขไม่มี ตัวของเราไม่มีในนั้น

·       การทำความเพียรอย่าหลอกตัวเอง  ให้เอาจริงเอาจังกับมัน ว่าจะตั้งก็ต้องตั้งสิว่าจะกำหนดก็ต้องกำหนดสิ   ให้สติมันแก่กล้า ทำสัมปชัญญะให้มันแจ้ง

·       เห็นคนอื่นเห็นสัตว์อื่นมีความสุข   เราผู้นั่งดูก็สุขด้วย

·       หลวงปู่มักนำข้อคิดของคนโบราณมาเตือนว่า ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน พัฒนาการไว้ให้ชาติบ้านเมือง

·       ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นเครื่องชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ที่เราทำกันนั้นมีความหมาย ถ้าทำแล้วกำจัดกิเลสของตัวได้เป็นการดี แต่ถ้าทำแล้วกำจัดไม่ได้  ก็ชื่อว่ามาทำเล่นๆ   ไม่ดี

·       อบรมตัวเองให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติ ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี อะไรที่มันผิดเราก็จะต้องพยายามละ ไม่ทำตามความคิดฝ่ายต่ำของตัวเอง ทำแต่คุณงามความดี

·       ดูตัวเองสิปัญญาเรามีไหม เราพิจารณาได้ไหม ทำอย่างนี้จะเจริญจริงไหม ทำอย่างนี้จะเสื่อมไหม พิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาอันชาญฉลาดของตนเองดู

·       เราไม่เก็บ ไม่กำ ไม่กอบ ไม่โกย ไม่โกง ไม่กิน ไม่เอาเปรียบผู้ใดเลย แต่ถ้าเราเก็บ กำ กอบ โกย โกง กิน ตัวเองก็มีแต่จะเสื่อม หมดสง่าราศี

·       เครื่องประดับใดๆ ในโลก ก็สู้ธรรมะไม่ได้  ถ้ามีธรรมะประดับใจตนแล้ว ย่อมเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองแน่นอน

·       ผู้ปฏิบัติต้องฝึกหัดสติกันทั้งนั้นแหละ

·       อย่าปล่อยสติให้มันเป็นไปตามความชอบใจของมันเอง ทำอะไรก็ให้มีสติทำข้อวัตร  ปฏิบัติอะไรก็ให้มีสติอยู่เสมอ  จับแก้วก็ให้มีสติ จะวางตรงไหนก็ให้มีสติ  ถ้าไม่มีสติ เวลาวางเสียงจะดัง ข้าวของอาจเสียหายได้ ผู้ที่ไม่ปล่อยสติให้เลินเล่อดูแล้วงาม

·       ฟังเทศน์ถ้ามีสมาธิในการฟังชื่อว่าเคารพแล้ว อย่าเอาใจส่งไปไร่นาไปที่ไหน ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ได้ยินอยู่ที่หู รู้อยู่ที่ใจ  ใช้วิจารณาณอยู่ในตัว คบคิดเนื้อหาอยู่กับตัวนั่นแล   เรียกว่าได้ความเคารพ

·       เห็นเงินหน้าดำ เห็นคำหน้าเศร้า เห็นข้าวตาโต พาโลอยากได้   เป็นคำที่หลวงปู่มักนำมาเตือนพระเณร  ไม่ให้ตกเป็นทาสของความโลภ

·       โกรธเขาเราทุกข์เองนั่นแหละ ถ้าไม่โกรธก็ไม่ทุกข์ สบาย ฆ่าความโกรธได้อยู่เป็นสุข เราจะชนะความโกรธของเขา  ด้วยความไม่โกรธของเรา

·       ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ส่ง ไม่ส่าย ไม่วุ่น ไม่วายกับเรื่องใดๆ ทั้งนั้น ก็สบายแฮ อยู่อย่างนั้น...สบาย

·       กินหลายบ่หายอยาก (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) นอนมากบ่รู้ตื่น รักคนอื่นกว่ารักตัว สิ่งควรกลัวกลับกล้า (ราคะ โทสะ โมหะ) ของสั้นสำคัญว่ายาว (ชีวิต)

·       ถ้ามีศรัทธาความเชื่อมั่นแล้ว ทำให้ไม่ลำบากในการบำเพ็ญกุศล เพราะไม่มีสิ่งมากีดขวาง

·       สัปปายะ ๕ ได้แก่ อาหารเป็นที่สบาย อากาศเป็นที่สบาย เสนาสนะเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย ธรรมะเป็นที่สบาย ท่านว่าอยู่ได้ มีโอกาสเจริญจิตตภาวนาไปได้สะดวก

·       เมื่อใจสงบลงไปแล้ว   จะเห็นบาปเป็นบาป  เห็นบุญเป็นบุญ

·       ถ้าจะสึก ตัวเป็นโยมแต่ใจเป็นพระได้ไหม  มักน้อย ไม่แสวงหา ไม่แต่งตัว ไม่ห่วงหล่อ ห่วงสวย   ถ้าไม่ได้ก็อยู่อย่างนี้ดีกว่า (อย่าสึกดีกว่า)

·       เวลาภาวนา ต้องไม่มีตัวไม่มีตน  ไม่มีอะไร เป็นอาการว่างไปหมด แต่ความรู้ไม่ว่างให้ย้อนเข้ามาพิจารณาธรรมะว่า เราตกอยู่ในกองทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เราเป็นผู้รู้ผู้เดียว แม้ที่สุดก็ไม่มีเราในรู้นั้น ไม่ยึดมั่นยึดถืออะไรอีก วางหมด มันเบาไม่หนักแล้ว

·       ความโมโหพาตัวตกต่ำ อย่าไปโมโหโกรธผู้อื่น  มันเป็นไฟ มันจะไหม้หัวใจเจ้าของเอง ถ้าเขาไม่ดีมันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

·       ทำทานแล้วต้องรักษาศีลด้วย เหมือนเอาถ้วยชามมาใส่ของ ใส่อย่างเดียว ไม่ล้างถ้วยล้างชามก็ไม่น่าใช้

·       นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี   ทำใจให้เป็นไปอย่างนั้นเด้อ

·       ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระอันหนัก ต้องรู้จักวาง รู้จักเฉยซะ หากเราวางได้ จะเบากายเบาใจอย่างยิ่ง

·       ถ้าท่านรู้ตัวท่านดีกว่าท่านไม่ได้ผิด ก็ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งนั้น ไม่เห็นจะต้องหวั่นไหวอะไรเลย ต่อให้คนทั้งโลกจะชี้หน้าว่าผิดแม้ตัวผมเอง (หลวงปู่ชี้นิ้วเข้าหาหลวงปู่ก็ไม่ต้องหวั่นไหว)

·       ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร ทำอย่างไรกับเรา  อย่าหวั่นไหว เฉยไว้ก็ดีเองๆ

·       เห็นธรรม  คือ  เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำอย่างไรเราจะพ้นจากกองทุกข์ เห็นว่าของทุกอย่างไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา แม้ร่างกายที่อยู่ร่วมกันก็ไม่ใช่เราเลย มันอยากเจ็บมันก็เจ็บ มันอยากแก่มันก็แก่ มันอยากตาย มันก็ตาย ห้ามมันไม่ฟัง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นไม่กลัวตาย ตายเมื่อไรช่างมัน ทำความดี...ดีกว่า