ความหมายของสติปัฏฐาน

บทนำ

ท่านอาจารย์อู บัณฑิตา มักจะกล่าวถึงความหมายของสติปัฏฐานอยู่เสมอ โดยอาศัยหลักนิรุกติศาสตร์ (การศึกษาว่าด้วยกำเนิดและความหมายของคำ) ในการอธิบายวิธีที่ถูกต้องในการกำหนด และเฝ้าดูอารมณ์ทางกายและทางจิตที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญกรรมฐาน

การขยายความของคำว่า สติปัฏฐาน โดยละเอียด พิสดาร และสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงนี้ นับเป็นคุณูปการของท่านอาจารย์อย่างแท้จริง เป็นสูตรสำเร็จสำหรับการปฏิบัติธรรมให้ได้ผล และหากนำมาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็จะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอย่างรวดเร็ว

ประโยชน์ ๗ ประการของการเจริญสติ

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการ ปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดของจิต เพื่อระงับความเศร้าโศก พิไรรำพัน เพื่อดับทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจลงอย่างสิ้นเชิง เพื่อดำเนินเข้าสู่อริยมรรค และเพื่อรู้แจ้งพระนิพพาน

ความหมายของคำว่า สติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน เป็นคำภาษาบาลีที่มักจะแปลกันโดยทั่วไปว่าฐาน (ที่ตั้ง) ของสติทั้ง ๔ ฐาน อย่างไรก็ตามเราอาจทำความเข้าใจความหมายที่สมบูรณ์ของคำว่า สติปัฏฐาน ได้โดยการแยกคำสมาสนี้ออกเป็นส่วน ๆ แล้วพิจารณาองค์ประกอบของคำสมาสนี้ทีละคำ และพิจารณาความหมายโดยรวมอีกครั้ง

 

สติ + ปฏฺฐาน

หรือ

สติ + ป + (ฏ) ฐาน

คำว่า สติ มีรากศัพท์มาจากคำว่า สํสรติ ซึ่งแปลว่า การจำ แต่เมื่อกล่าวโดยนัยของสติเจตสติ สติ จะหมายถึงการระลึกได้ในอารมณ์ การจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ การระลึกรู้ความตื่นตัวทั่วพร้อม และความใส่ใจไม่ประมาท มากกว่าการจดจำเรื่องในอดีต

ปฏฺฐาน หมายถึง การสร้างขึ้น การนำมาใช้ การทำให้ปรากฏขึ้นและตั้งอยู่อย่างแนบแน่นและมั่นคง

เมื่อนำคำทั้งสองมารวมเข้าด้วยกัน คำว่า สติปัฏฐาน จึงหมายถึง “ การทำให้สติเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างแน่นแฟ้น มั่นคง และแนบสนิทกับอารมณ์ที่กำลังกำหนดรู้อยู่ ” การระลึกรู้เช่นนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุปฺปติฏฺฐิต สติ หรือ สติที่ตั้งมั่นด้วยดี

ฐานทั้งสี่ของสติ

การดำรงสติไว้ที่ฐานทั้งสี่มีสาระสำคัญเหมือนกันเพียงประการเดียวก็คือ การน้อมจิตมาระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างมีสติ ฐานทั้งสี่นี้จำแนกออกตามอารมณ์หรือสิ่งที่จิตไปกำหนดรู้ ๔ อย่าง คือ ๑. ร่างกาย (กาย) ๒. ความรู้สึก (เวทนา) ๓. สภาวะการระลึกรู้ของจิต (จิต) และ ๔. อารมณ์ที่จิตเข้าไประลึกรู้ (ธรรม) ประการหลังนี้หมายรวมถึงสภาพธรรมต่าง ๆ เช่น นิวรณ์ทั้งห้า ขันธ์ห้า อายตนะภายในทั้งหก อายตนะภายนอกทั้งหก โพชฌงค์เจ็ด และอริยสัจสี่ด้วย

สติ

คำว่า “mindfulness” (ความรู้ตัวทั่วพร้อม) ได้กลายมาเป็นคำแปลภาษาอังกฤษของ “ สติ ” ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามคำแปลนี้ยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว ความจริง “ พลังในการเฝ้าสังเกต ” (observing power) น่าจะเป็นคำแปลที่เพียงพอและเหมาะสมกว่า ความหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของคำๆ นี้อาจอธิบายได้ด้วยการพิจารณาลักษณาการต่าง ๆ ของสติ เช่น ลักษณะ หน้าที่ ผล เหตุใกล้ และคุณสมบัติที่สำคัญอื่น ๆ ของสติ

 

ความไม่ผิวเผินฉาบฉวย

ลักษณะของสติ คือ ความไม่ซัดส่ายไปมา หรือการระลึกได้ในอารมณ์อยู่เนือง ๆ กล่าวคือ ไม่ล่องลอยไปจากอารมณ์กรรมฐาน (อปิลาปนลกฺขณา) พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวเปรียบเทียบว่าเหมือนกับลูกฟักทองที่คว้านเอาไส้ในออกจนกลวง ตากแห้งแล้วโยนลงไปในน้ำ ลูกฟักทองแห้งย่อมลอยขึ้นลงอยู่บนผิวน้ำนั้น ในทำนองเดียวกัน จิตที่เฝ้าสังเกตและกำหนดรู้อารมณ์ก็ไม่ควรที่จะรับรู้อารมณ์อย่างผ่านเลย ฉาบฉวย ตรงกันข้าม จิตควรที่จะดิ่งหรือจมลึกลงไปในอารมณ์ที่กำหนดรู้ นั้น เช่นเดียวกับการขว้างก้อนหินลงไปในน้ำ ก้อนหินนั้นก็จะจมหรือดิ่งลงไปสู่ก้นบึ้งของท้องน้ำ

สมมติว่าผู้ปฏิบัติกำลังเฝ้าดูท้อง (พอง ยุบ) เป็นอารมณ์ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่ ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามรวมพลังในการระลึกรู้ให้จรดอยู่ที่อารมณ์หลักนี้อย่างมั่นคงแนบแน่น เพื่อไม่ให้จิตซัดส่ายออกไป จิตจะดิ่งลึกลงไปแนบแน่นอยู่กับกระบวนการพองยุบ และเมื่อจิตเข้าไปประจักษ์แจ้งธรรมชาติ ของกระบวนการนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติก็ สามารถเข้าใจถึงลักษณะที่แท้จริง ของกระบวนการดังกล่าว ทั้งความเคร่งตึง ความกดดัน ความเคลื่อนไหว ฯลฯ

 

ไม่พลาดจากการระลึกรู้อารมณ์

หน้าที่หรือกิจของสติก็คือการ ทำให้ปราศจากความสับสน หรือหลงลืม (อสมฺโมสรสา) กล่าวคือการกำหนดรู้ของจิตนี้จะต้องมีความต่อเนื่องอย่างยิ่ง ไม่เคลื่อนคลาดหลงลืมหรือปล่อยให้อารมณ์กรรมฐานหายไปจากการระลึกรู้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หน้าที่ของสติคือการประคับประคองให้อารมณ์กรรมฐานปรากฏชัดอยู่ในความระลึกรู้ของผู้ปฏิบัติตลอดเวลา เช่นเดียวกับนักฟุตบอลที่ไม่เคยปล่อยให้ลูกบอลหลุดรอดไปจากสายตา หรือนักกีฬาแบดมินตันกับลูกขนไก่ หรือนักมวยกับความเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ เช่นเดียวกันผู้ปฏิบัติจะไม่ปล่อยอารมณ์กรรมฐานให้คลาดไปจากการกำหนดรู้ได้เลย

 

การเผชิญหน้าหรือจดจ่อต่ออารมณ์และการคุ้มครองป้องกันจิต

สติก่อให้เกิดผล ๒ อย่าง คือ การจดจ่อต่ออารมณ์กรรมฐาน และการอารักขาป้องกันจิต

•  การจดจ่อต่ออารมณ์

ผลของการมีสติจะเห็นได้ชัดจากสภาพการเผชิญหน้าหรือจดจ่อต่ออารมณ์ กล่าวคือ สติทำให้จิตเข้าไปเผชิญหรือประจันหน้ากับอารมณ์ตรง ๆ (วิสยาภิมุขภาวปจฺจุปฏฺฐานา) โดยสติจะปรากฏเป็นสภาวะของจิต (ภาวะ) ที่กำลังเผชิญหน้าโดยตรง (อภิมุข) หรือจดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่กำหนดรู้อยู่ (วิสย)

กล่าวกันว่าใบหน้านั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงลักษณะนิสัย ดังนั้นหากเราประสงค์จะรู้ลักษณะและนิสัยใจคอของใครสักคนหนึ่ง เราก็ต้องเผชิญหน้ากับคนผู้นั้นโดยตรง แล้วตรวจสอบดูหน้าตาของเขาอย่างถี่ถ้วน ด้วยวิธีนี้การตัดสินใจของเราจึงจะมีความถูกต้อง แต่หากเรายืนอยู่ในมุมเฉียง อยู่ข้างหลัง หรืออยู่ห่างจากตัวบุคคลนั้น เราก็คงไม่สามารถแยกแยะลักษณะที่โดดเด่นในใบหน้าของบุคคลผู้นั้นได้

ในทำนองเดียวกัน ในขณะที่ผู้ปฏิบัติกำลังเฝ้าดูอาการพองของท้องอยู่นั้น หากจิตของผู้ปฏิบัติเข้าไปเผชิญหน้าหรือจดจ่ออยู่กับอาการพองโดยตรงแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะ สังเกตเห็นความรู้สึกหลายอย่างที่แตกต่างกันในอาการพองนั้น เช่น ความเคร่งตึง ความกดดัน ความร้อน ความเย็น หรืออาการเคลื่อนไหว

 

•  ความคุ้มครองรักษาจิต

หากจิตที่ตามระลึกรู้อารมณ์อยู่นั้นสามารถประคับประคองความจดจ่อต่ออารมณ์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ผู้ปฏิบัติก็จะพบว่าจิตมีความบริสุทธิ์อย่างยิ่งซึ่งเป็นผลของการที่จิตปราศจากกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) ความบริสุทธิ์นี้เป็นผลประการที่สองของสติ กล่าวคือการปกป้องคุ้มครองจิตจากการจู่โจมของกิเลส (อารกฺขปจฺจุปฏฺฐานา) ตราบที่มีสติคุ้มครองอยู่ กิเลสจะไม่มีโอกาสล่วงล้ำเข้าสู่กระแสการรับรู้อารมณ์ได้เลย

 

สติอาจเปรียบได้กับยามเฝ้าประตูที่ทำหน้าที่ดูแลอายตนะทั้งหก ยามเฝ้าประตูจะไม่ยอมให้คนร้ายหรือผู้ที่ไม่ปรารถนาดีผ่านประตูเข้ามาได้ แต่จะยอมให้คนที่ดีมีประโยชน์ผ่านเข้ามาเท่านั้น สติก็เช่นกันจะไม่ยอมให้อกุศลเข้ามาทางอายตนะทั้งหลาย แต่ยินยอมให้กุศลผ่านเข้ามาได้เท่านั้น โดยการกีดกันอกุศลไม่ให้กล้ำกรายเข้ามา จิตจึงได้รับการอารักขาคุ้มครอง

 

เหตุใกล้ของสติ

ปัจจัยอันเป็นเหตุใกล้ที่ช่วยให้สติเจริญขึ้น ก็คือการกำหนดหมายหรือจำได้หมายรู้อย่างมั่นคง (ถิรสญฺญา ปทฏฺฐานา) และสติปัฏฐาน ๔ (กายาทิสติปฏฺฐาน ปทฏฺฐานา)

 

•  ความจำได้หมายรู้ที่มั่นคง

เพื่อให้สติระลึกรู้อยู่กับอารมณ์ ความจำได้หมายรู้ที่หนักแน่น และมั่นคง (ถิร) เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งการกำหนดหมายหรือจำได้หมายรู้ (สัญญา) มีความหนักแน่นมั่นคงและแน่วแน่มากเท่าใด สติก็จะยิ่งมีความหนักแน่นมั่นคง และแน่วแน่มากขึ้นเท่านั้น

ความจำได้หมายรู้นั้นมีหน้าที่อยู่สองประการคือ การบันทึก และการระลึกรู้สภาพธรรมที่มีการปรุงแต่งขึ้นทั้งหลาย (สังขาร) โดยไม่จำกัดว่าสิ่งนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศล สัญญา อาจเปรียบได้กับการอัดเทปคำพูดลงในเทปวิทยุหรือเทปวีดีโอ การบันทึกเทปนั้นเกิดขึ้น โดยไม่คำนึงถึงเนื้อหา หรือคุณภาพของเสียงพูดนั้น แต่การบันทึกที่มีความชัดเจน คุณภาพสูง เช่นการอัดเสียงคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิค หรือโอเปร่าลงบนแผ่นซีดีด้วยระบบดิจิตอลรุ่นใหม่ล่าสุด ย่อมทำให้เสียงที่ออกมาภายหลัง (เปรียบได้กับสติ) มีความแจ่มชัด หนักแน่น ไพเราะน่าประทับใจ ยามที่นำแผ่นซีดีนั้นกลับมาเปิดใหม่

ในทำนองเดียวกัน ความจำได้หมายรู้อารมณ์กรรมฐานอย่างมั่นคง แจ่มชัด (โดยการกำหนดรู้ธรรมดา หรือการกำหนดรู้โดยใช้คำพูดในใจประกอบ) จะเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างดียิ่งให้เกิดสติที่เข้มแข็ง แจ่มชัด และแนบแน่น

 

•  สติปัฏฐานสี่

เหตุใกล้อีกประการหนึ่งของสติได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ (กายาทิสติปฏฺฐานปทฏฺฐานา) กล่าวคือ สตินั่นเองเป็นสาเหตุให้สติเจริญยิ่งขึ้น ความจริงสติที่เจริญขึ้นก็เป็นผลจากการสั่งสมพลังสติแต่ละขณะอย่างต่อเนื่อง สติในขณะจิตหนึ่งก่อให้เกิดสติในขณะจิตต่อ ๆ ไป

กระบวนการนี้เทียบได้กับกระบวนการสั่งสมความรู้ (การศึกษา) หากว่านักเรียนเป็นคนที่ตั้งอกตั้งใจ และทำการบ้านด้วยความเคารพและใส่ใจ แล้ว ความรู้ที่เขาได้รับจากบทเรียนเบื้องต้น ก็จะทำให้เขาเข้าใจบทเรียนในขั้นสูง ๆ ขึ้นไปได้ การศึกษาชั้นประถมก็เป็นเหตุให้สามารถศึกษาในระดับมัธยมได้ และความรู้ในชั้นมัธยมก็เป็นพื้นฐานสำหรับระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่อไป

โดยสรุปก็คือ สตินั่นเองเป็นสาเหตุให้สติเจริญและมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้น

 

เท่าทันปัจจุบัน

การระลึกรู้เท่าทันปัจจุบันอารมณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ควรมีอะไรมาแบ่งกั้นระหว่างอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและการกำหนดรู้ของจิต อารมณ์ที่เกิดขึ้นและจิตที่กำหนด ไม่ควรเกิดขึ้นโดยมีระหว่างคั่น การกำหนดรู้อารมณ์ที่ปรากฏขึ้น ควรเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีไม่มีความล่าช้าแม้แต่น้อย ทันทีที่อารมณ์เกิดขึ้นผู้ปฏิบัติต้องกำหนดรู้และเฝ้าสังเกตทันที

หากการกำหนดรู้ของผู้ปฏิบัติเคลื่อนคลาดออกไป การปรากฏของสภาพธรรมก็จะผ่านพ้นไปก่อนที่ผู้ปฏิบัติจะน้อมจิตไประลึกรู้อารมณ์นั้น ผู้ปฏิบัติย่อมไม่สามารถรับรู้อารมณ์ที่เป็นอดีต หรืออนาคตได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และหากผู้ปฏิบัติไม่ได้ใส่ใจจดจ่ออยู่กับปัจจุบันอารมณ์ทั้งหลายอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็เรียกได้ว่าผู้ปฏิบัติมิได้เจริญวิปัสสนาและมิได้อยู่กับความเป็นจริงอีกต่อไป

การเกิดขึ้นพร้อมกัน

การเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันของการกำหนดรู้ และอารมณ์กรรมฐานนั้นเป็นลักษณะที่สำคัญของสติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น จิตก็จะน้อมระลึกรู้อารมณ์นั้น ๆ พร้อม ๆ กับที่อารมณ์ปรากฏขึ้นอย่างประสานสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

สติที่พิเศษเหนือธรรมดา

พยางค์ ปะ ในคำว่า สติ - ป - (ฏ) ฐาน บ่งชี้ว่าสตินั้นจะต้องพิเศษหรือธรรมดา หรือมีความโดดเด่น (วิสิฏฺฐ) มากล้น เข้มข้น จดจ่อ และต่อเนื่อง (ภุสตฺถ) ยิ่งกว่าสติโดยทั่วไป การมีสติตามปรกติธรรมนั้น ไม่เพียงพอ เลยในการเจริญสติปัฏฐานภาวนาอย่างจริงจังเข้มข้น จากนี้เราจะศึกษาลักษณะข้างต้น ตลอดจนความหมายของพยางค์ “ ปะ ” ในเชิงการปฏิบัติภาวนาต่อไป

 

การแล่นออกไปโดยเร็ว (ปกฺขนฺทิตฺวา ปวตฺตติ)

พยางค์ ปะ ในคำว่า สติ - ป - (ฏ) ฐาน อาจตีความได้ว่ามาจากคำว่า ปกฺขนฺทน กล่าวคือ ความเร่งรีบ กระโจนหรือพุ่งเข้าไป ทันทีที่สภาพธรรมซึ่งเป็นอารมณ์กรรมฐานเกิดขึ้น จิตจะต้องพุ่งทะยานออกไปและจมลึกลงไปในอารมณ์กรรมฐานนั้นอย่างมีพลังแรงกล้า และกล้าหาญ จิตจะถาโถมเข้าใส่อารมณ์นั้นอย่าง ไม่ลังเล ไม่ยั้งคิด ใคร่ครวญ วิเคราะห์ จิตนาการ สงสัย ไตร่ตรอง คาดเดา หรือเพ้อฝันใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นอาการ “ แล่นออกไปอย่างรวดเร็ว ” นี้จึงประกอบด้วย ลักษณะหลาย ๆ อย่างด้วยกันคือ•  การเคลื่อนไหวที่ รวดเร็ว ฉับไวทันทีทันใด พร้อมด้วยความรุนแรง หรือด้วยพละกำลังความเข้มแข็ง และความกระฉับกระเฉงอย่างยิ่งยวด

อุปมา : เหมือนการเร่งรีบส่งผู้ป่วยในโรงพยาบาล

•  การจู่โจมเข้ายึด ตะครุบ หรือจับกุม อย่างเฉียบพลัน การโจมตีอย่างฉับไว การประจัญบาน

อุปมา : เหมือนกองทหารเข้ายึดและพิฆาตกองกำลังของศัตรู ด้วยการโจมตีที่รุนแรง แบบเบ็ดเสร็จรวดเดียว

•  อาการที่ฝูงชนแห่กันไปยังสถานที่แห่งหนึ่งแห่งใดพร้อม ๆ กัน

อุปมา : เหมือนฝูงคนเบียดเสียดกันเข้าประตูสนามแข่งขันฟุตบอลก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น

•  การทำอะไรด้วยความเร่งด่วน รวดเร็วและเร่งรีบเกินธรรมดา

อุปมา : เหมือนคนที่กำลังยุ่งอยู่กับงานที่อาจกล่าวว่า “ ผมกำลังรีบสุดขีดเลย ” หรือ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ จงตีเหล็กเมื่อยังร้อน ” ผู้ปฏิบัติก็เช่นกันต้องกำหนดรู้และสังเกตดูอารมณ์ทันทีเมื่ออารมณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้น “ สด ๆ ร้อน ๆ ”

  ผู้ปฏิบัติไม่ควรกำหนดรู้แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ การระลึกรู้จะต้องไม่หย่อนยาน อืดอาด ไม่ใส่ใจ และไม่ล่าช้าหรือจับจ้องเกินไปจนไม่ทันปัจจุบันอารมณ์ จิตที่กำหนดรู้จะต้องไม่ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย ไม่มีเวลาสำหรับความนึกคิดใด ๆ ผู้ปฏิบัติไม่ควรตามระลึกรู้อารมณ์แบบสบาย ๆ เกินไปหรือละล้าละลัง แต่ต้อง ถาโถมเข้าใส่ปัจจุบันอารมณ์อย่างถูกตรง สม่ำเสมอ

 

การเข้าไปรับรู้อารมณ์อย่างแนบแน่นมั่นคง

(อุปคฺคณฺหิตฺวา ปวตฺตติ)

ในขณะที่ชาวนาเกี่ยวข้าว มือข้างหนึ่งของเขาจะต้องจับรวงข้าวอย่างมั่นคง เขาจึงจะใช้เคียวเกี่ยวข้าวได้สำเร็จ ในทำนองเดียวกัน ผู้ปฏิบัติจะต้องจับ (กำหนดรู้) อารมณ์กรรมฐานได้อย่างแนบแน่นมั่นคง เพื่อมิให้จิตเลื่อนไหลหลุดลอยไปหรือเคลื่อนคลาดไปจากการระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์

เมื่อสติมีความมั่นคงมากขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถจับหรือเข้าไประลึกรู้อารมณ์หยาบ ๆ ได้อย่างแนบแน่นมากขึ้น และเมื่อฝึกปฏิบัติต่อไป จิตก็สามารถกำหนดรู้ และตั้งอยู่กับอารมณ์ที่ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้น และในที่สุดแม้แต่อารมณ์ที่สุขุมลุ่มลึกมาก ๆ ก็สามารถกำหนดรู้ได้อย่างมั่นคง ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงควร พยายามเข้าไปรับรู้อารมณ์ทางกายให้ได้ชัดเจนก่อนที่จะพยายามกำหนดอารมณ์ทางจิตที่สุขุมลุ่มลึกมากขึ้น เช่นเจตนาความคิดต่าง ๆ ฯลฯ

 

กำหนดรู้อารมณ์อย่างถ้วนทั่ว ( ปตฺถริตฺวา ปวตฺตติ )

การกำหนดรู้ของจิตนั้นต้องครอบคลุมอารมณ์นั้น ๆ โดยถ้วนทั่ว แผ่ออกไป โอบล้อมห่อหุ้มอารมณ์นั้นทั้งหมด มิใช่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง และกำหนดรู้ตั้งแต่ต้นตลอดท่ามกลาง และสิ้นสุด

 

ความต่อเนื่องไม่ขาดสาย ( ปวตฺตติ )

ในทางปฏิบัติการกำหนดรู้อารมณ์ในลักษณะนี้ หมายความว่า จิตที่กำหนดรู้ และสังเกตดูอารมณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นั้นจะต้องมีความต่อเนื่อง กล่าวคือ การเจริญสติขณะหนึ่งจะต้องเชื่อมต่อกับการเจริญสติในอีกขณะหนึ่ง ทุก ๆ ขณะ ต่อเนื่องกันไป สติที่เกิดขึ้นในขณะแรกจะต้องต่อเนื่องกับสติในขณะถัดไปโดยไม่มีช่องว่าง กล่าวโดยย่อก็คือผู้ปฏิบัติควรจะประคองสติให้ดำรงอยู่เสมอ

 

อุปมา :

•  หากมีช่องว่างระหว่างแผ่นกระดานปูพื้นสองแผ่น ฝุ่นและทรายก็อาจแทรกเข้าไปได้ หากสติไม่มี ความต่อเนื่องและมีช่องว่างอยู่ กิเลสก็อาจแทรกซึมเข้ามาได้

•  ในสมัยก่อนคนจุดไฟด้วยการนำท่อนไม้สองท่อนมาถูกัน หากผู้จุดไฟไม่ขัดสีไม้อย่างต่อเนื่อง แต่ทำไปหยุดไปแล้ว ไฟก็ไม่อาจติดขึ้นได้เลย ในทำนองเดียวกัน หากสติไม่มีความต่อเนื่อง ผู้ปฏิบัติย่อมไม่อาจจุดประกายไฟแห่งปัญญาขึ้นได้เลย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในการกำหนดรู้หรือการเจริญสติอยู่กับอารมณ์ใด ๆ ผู้ปฏิบัติไม่ควรปล่อยให้มีช่องว่าง แต่ต้องรักษาความต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ควรเป็นไปในลักษณะทำ ๆ หยุด ๆ ผู้ที่ปฏิบัติแบบทำไปหยุดไปเพื่อพักผ่อนเป็นช่วง ๆ และเริ่มใหม่ มีสติประเดี๋ยวประด๋าว และหยุดเพื่อฟุ้งฝันเป็นช่วง ๆ นั้น ได้ชื่อว่า “ โยคีกิ้งก่า ” (คือ ทำ ๆ หยุด ๆ ไม่เอาจริงเอาจัง - ผู้แปล)

 

ไม่บังคับกะเกณฑ์

กระบวนการกำหนดรู้และสังเกตดูอารมณ์ที่ปรากฏทางกายและทางใจนี้ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของสามัญลักษณะ แห่งความไม่มีตัวตนที่จะบังคับบัญชาได้ (อนัตตา) กล่าวคือ

ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความระมัดระวังอย่างใหญ่หลวงในการเฝ้าดูอารมณ์ต่าง ๆ โดยไม่เข้าไปบังคับกะเกณฑ์ ควบคุมหรือบงการใด ๆ ผู้ปฏิบัติควรจะเพียงแต่ดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ มิใช่มองหาสิ่งที่คาดหวัง หรือปรารถนาให้เกิดขึ้น


สรุป

มาถึงตรงนี้ เราจะกล่าวว่า สติปัฏฐานคืออะไรกันเล่า สติปัฏฐานก็คือ การดำรงสติอยู่กับอารมณ์ใด ๆ โดยแล่นเข้าไประลึกรู้อารมณ์อย่างรวดเร็ว ถูกตรง ลุ่มลึก และครอบคลุม โดยถ้วนทั่ว เพื่อให้สติตั้งอยู่กับอารมณ์อย่างแนบแน่นมั่นคง เมื่อกำหนดว่า “ พองหนอ ” จิตก็จะเข้าไปรับรู้อารมณ์ที่กำหนดรู้อยู่ กล่าวคือ อาการพองของท้อง ความระลึกรู้ของจิตจะแล่นเข้าใส่อารมณ์อย่างรวดเร็วแล้วแผ่ขยายออกครอบคลุมอารมณ์นั้น จนจิตแนบแน่นอยู่กับอารมณ์ หรือสภาพธรรมดังกล่าว กระบวนการเช่นนี้จะดำเนินต่อไป ขณะที่กำหนดรู้อาการยุบ รวมตลอดถึงอารมณ์อื่น ๆ ที่ปรากฏขึ้นทางกายและทางจิต

ดังนั้นโดยสรุป สติต้องมีพลังรอบด้าน เข้าประชิดจดจ่อกับอารมณ์ตรง ๆ สติจะต้องถาโถมเข้าใส่อารมณ์ ห่อคลุมอารมณ์โดยถ้วนทั่วบริบูรณ์ ทะลุทะลวงเข้าไปในอารมณ์ และไม่พลาดแม้เศษเสี้ยวของอารมณ์ที่กำหนดรู้อยู่เลย

หากสติของผู้ปฏิบัติมีคุณสมบัติเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติย่อมเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว และเมื่อการปฏิบัติมีความสมบูรณ์เต็มรอบแล้ว ย่อมเข้าถึงพระนิพพานได้อย่างแน่นอน

 

 สติปัฏฐาน โดยย่อ

•  ดำรงสติอย่างแนบแน่นมั่นคง

•  ไม่ผิวเผินฉาบฉวย

•  ไม่พลาดจากการระลึกรู้อารมณ์

•  จดจ่อต่ออารมณ์

•  ปกป้องจิตจากการจู่โจมของกิเลส

•  การจำได้หมายรู้ที่ชัดเจนมีพลัง

•  สติเหนี่ยวนำให้สติเจริญขึ้น

•  เร่งรีบและดิ่งลึกลงไป

•  จับอารมณ์ให้มั่น

•  ครอบคลุมอารมณ์โดยถ้วนทั่ว

•  ทันทีทันใด

•  ต่อเนื่องไม่ขาดสาย

•  เท่าทันปัจจุบัน

•  ไม่บังคับกะเกณฑ์