ให้อภัยตนเอง โดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ ร่มอารามธรรมสถาน

คนทุกคนเคยทำทั้งดีและชั่ว ถูกและผิด ต่างกันอยู่ที่ว่า ใครจะทำฝ่ายไหนมากกว่ากัน

เมื่อเราไม่ชอบใครคนใดคนหนึ่ง เรามักจะเห็นข้อบกพร่องของเขา และฝังใจอยู่กับข้อบกพร่องหรือสิ่งที่เราคิดว่าเขาทำไม่ดี ตราบใดที่เรายังรู้สึกไม่ดีต่อเขา เท่ากับว่าเรียกติดในความคิดเดิม แม้ว่าสิ่งนั้นอาจจะผ่านพ้นไปแล้วเนิ่นนาน บางคนโกรธกันมานานนับสิบปี ความรู้สึกโกรธก็ยังไม่หายไป ทุกครั้งที่พบกัน ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันก็ผุดขึ้นมาอีก เป็นความรู้สึกที่ทำร้ายจิตใจตนเองเป็นเบื้องต้น และทำลายโอกาสของความสัมพันธ์อันดีตามมา

คนแต่ละคนแสดงพฤติกรรมออกมาตามคุณสมบัติของกายและจิตของเขาในแต่ขณะ เช่น หากร่างกายไม่สบาย สีหน้าท่าทางก็ย่อมไม่สบายตามไปด้วย แม้คำพูดก็อาจจะไม่นุ่มนวลชวนฟังเหมือนยามปกติ ทางด้านจิตใจนั้น ยามใดที่มีความรู้สึกโกรธ เกลียดชัง หรือมีความคิดไม่ดี คำพูดก็ย่อมไม่ดีเช่นกัน

คุณสมบัติหรือคุณภาพของร่างกายและจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ดังนั้นพฤติกรรมทางกายและวาจาของแต่ละคน จึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย การที่เรายึดถือเอาพฤติกรรมของใครคนใดคนหนึ่งมาเป็นตัวตัดสินว่าเขาจะต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไป จึงเป็นการตัดสินที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้เกิดอคติหรือมีใจไม่เที่ยงธรรม เช่น รักใครชอบใครก็เข้าข้างเขาว่าเขาเป็นคนดี เขาทำถูก เกลียดใครโกรธใครก็หาว่าเขาเป็นคนไม่ดี การกระทำของเขาผิด

คนส่วนใหญ่ในโลกจึงมากด้วยอคติ เราไม่ได้ตัดสินบุคคลอย่างมีเหตุผล นั่นคือตัดสินตามพฤติกรรมที่เขากระทำในแต่ละครั้ง เรามักจะตัดสินตามความรู้สึกเดิมที่เคยมีต่อเขา โดยเฉพาะสังคมไทยเป็นสังคมที่ถือเอาความรู้สึกมากกว่าเหตุผล ทำให้เรามีปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากเท่าทุกวันนี้

หากเรามีความเข้าใจตามความเป็นจริงดังกล่าว เราควรที่จะให้อภัยแก่คนที่เคยทำผิดและให้โอกาสเขาบ้าง ทำนองเดียวกันก็อย่าหลงไปว่าคนที่เรารักเราชอบ เขาจะไม่ทำผิด ต้องเผื่อใจเอาไว้ ซึ่งสำหรับคนที่เรารัก เราก็พร้อมที่จะให้อภัยเขาอยู่แล้ว แต่กับคนที่เราชัง ทำไมเราจึงไม่ให้อภัยแก่เขาบ้าง

ความรู้สึกเกลียดชัง ไม่ให้อภัยกัน มีแต่ทำร้ายจิตใจตนและหาทางทำลายคู่ปรปักษ์ เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณเลย

มีพรรษาหนึ่ง ผู้เขียนได้ปลีกวิเวกไปจำพรรษาอยู่ทางภาคเหนือเพียงลำพัง วันหนึ่งมีโยมมาทำบุญกัน ด้วยเป็นวันเทศกาลบุญ ผู้เขียนได้แสดงธรรมให้โยมฟัง เนื้อหาของธรรมตอนหนึ่งว่าด้วยการให้อภัยทาน เป็นทานที่ผู้ให้ไม่ต้องลงทุนลงแรงและเสียทรัพย์สินสิ่งของใดๆเลย ไม่ต้องเสียเวลาด้วย เป็นทานที่ผู้ให้ให้แล้วก็เบาใจ เพราะเอาความหนักใจคือความโกรธ ความเคียดแค้นชิงชัง ที่เก็บสะสมไว้มานานนับปี อันไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นละทิ้งไป เป็นทานที่ผู้รับยินดีที่จะรับ และเป็นทานที่จะช่วยให้เกิดความสมานฉันท์ อันจะช่วยเสริมสร้างพลังของความร่วมมือร่วมใจกันให้เกิดขึ้นในสังคม

สองวันต่อมา โยมคนหนึ่งมาพบผู้เขียน และบอกว่าตอนนี้โยมรู้สึกสบายใจมาก เรื่องที่เก็บสะสมไว้ให้หนักใจมาหลายปีได้ถูกขจัดออกไปแล้ว โยมเล่าให้ฟังว่า โยมไม่ถูกกับเพื่อนบ้านคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นำชุมชน หากเดินสวนกันก็จะไม่มองหน้ากัน หากต้องร่วมประชุมกันก็จะหาเหตุผลมาโต้แย้งกันข้างๆคูๆ ทำให้โยมไม่เข้าประชุมในกิจกรรมของหมู่บ้าน ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังกล่าว ไม่เพียงแต่กระทบถึงความรู้สึกสุข-ทุกข์ของคู่กรณีเท่านั้น หากยังกระเทือนถึงความร่วมมือร่วมใจกันในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในหมู่บ้านอีกด้วย

โยมเล่าต่อไปว่า หลังจากได้ฟังธรรมเรื่องอภัยทานแล้ว ทำให้โยมตัดสินใจให้อภัยเขา วันนั้นเองโยมได้เดินสวนกับเขา เพราะบ้านอยู่ในซอยเดียวกัน โยมยิ้มให้พร้อมทักทายเขาดัวยคำพูดที่ดี เขายิ้มตอบพร้อมกับชวนสนทนาด้วยท่าทีที่ดี และชวนให้โยมเข้าไปช่วยงานของหมู่บ้านด้วย เนื่องจากเขาเป็นประธานอบต.

ประโยชน์ของการให้อภัยทานกันมีมาเพียงใดในกรณีนี้ ผู้อ่านย่อมประเมินได้ ผู้ที่ให้อภัยผู้อื่นโดยเป็นฝ่ายยื่นมิตรไมตรีให้ก่อน ถือว่าเป็นผู้ที่ชนะใจตนเอง ชนะทิฐิมานะ หรือความคิดเห็นถือตัวถือตนของตนเองได้ เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และยกระดับจิตใจของตนให้สูงขึ้น

การให้อภัยตนเองก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมิใช่น้อย บางคนที่เคยทำผิดพลาดในเรื่องสำคัญของชีวิต มักจะย้ำคิดย้ำจำถึงความผิดพลาดนั้นๆ ทำให้จิตใจจมปลักอยู่กับความเศร้าหมอง ทั้งๆที่ เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว

ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้เปิดอบรมวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อการอบรมผ่านไปห้าวัน ผู้เข้าอบรมรายหนึ่งมารายงานความรู้สึกว่า เธอเก็บความทุกข์ในชีวิตมาเป็นเวลา ๓๘ ปี เป็นทุกข์ที่เผาไหม้อยู่ในใจราวกับตกนรกทั้งเป็น เป็นทุกข์ที่ไม่สามารถบอกใครได้ วันนี้เธอได้สลัดทุกข์นั้นออกไปแล้ว ทำให้จิตใจเบาสบาย มีความสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนตลอดระยะเวลา ๓๘ ปีอันยาวนาน

เธอเปิดเผยความลับอันคับข้องใจให้ฟังว่า สมัยวัยรุ่นใช้ชีวิตอย่างเสเพลทำให้ผิดพลาดถึงกับทำแท้ง นั่นเป็นมะเร็งร้ายในใจข้อที่ ๑ ต่อมาได้ทำหน้าที่พยาบาลเด็กหญิงเล็กๆ คนหนึ่ง เด็กคนนี้ขอทานนำไปเป็นเครื่องมือหากิน เธอเกรงว่าหากรักษาเด็กหายขอทานก็จะเอาเด็กไปเป็นเครื่องมือหาเงินอีก เธอจึงให้ยาแรงเกินขนาด ผลก็คือเด็กตาย นี่เป็นมะเร็งร้ายในใจข้อที่ ๒

ความผิดทั้งสองอย่างนี้ เผาไหม้ความรู้สึกเธอตลอดมา ทำให้ชีวิตจมปลักอยู่กับความทุกข์ ซึ่งดูจากสีหน้าของเธอก็บ่งบอกถึงความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ เธอพยายามหาทางออกด้วยการเข้าปฏิบัติธรรมในโอกาสต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถปล่อยวางทุกข์ในใจนั้นได้

มาคราวนี้เธอสามารถปลดปล่อยทุกข์นี้ได้แล้ว ด้วยการรู้จักให้อภัยตนเอง ไม่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงอดีตที่ผ่านมา อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันและพร้อมที่จะทำสิ่งดีๆ ให้ตัวเองเพื่ออนาคตอันสดใส

ผู้อ่านให้อภัยคู่แค้นและให้อภัยตนเองแล้วหรือยัง