ตายแล้วไปไหน

            และยังได้กระทำบุญต่าง ๆ มีการให้ทาน เป็นต้น บางทีเราเข้าใจว่า การทำบุญก็คือการให้ทานเพียงอย่างเดียวความจริงแล้ว การทำบุญมีถึง ๑๐ ประการ เรียกว่า  “บุญกิริยาวัตถุ”  แปลความว่า ความดีที่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดีที่เกิดขึ้น  คือ เป็นสิ่งที่ให้สำเร็จเป็นบุญเป็นกุศล พร้อมทั้งอานิสงส์ ที่ผู้กระทำพึงได้รับ ตามสมควรแก่โอกาสมี ๑๐ ประการ คือ

๑.     ทาน  คือ  การให้สิ่งของของตน โดยการบูชาหรืออนุเคราะห์แก่ชนเหล่าอื่น และสัตว์ทั้งหลาย

๒.  ศีล  คือ  การรักษากาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในศีล เช่น โยมทั้งหลายอยู่บ้าน เรียกว่า เป็นฆราวาส ก็รักษาศีล ๕ หรือ รักษาศีล ๘ พระภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ สามเณรรักษาศีล ๑๐

๓.  ภาวนา  คือ  การเจริญสมถะ และวิปัสสนา การเจริญสมถะ มีถึง ๔๐ วิธี เช่น เรานั่งสมาธิกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ภาษาพระเรียกว่า อานาปานัสสติ เป็นต้น การเจริญวิปัสสนา เช่นเรากำหนดอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ตามความเป็นจริงว่าเป็นรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน เป็นต้น แม้การที่เราตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ ที่ไม่มีโทษเป็นประโยชน์แก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น ก็สำเร็จเป็นบุญประการที่ ๓ คือ ภาวนา ในข้อนี้ด้วยเหมือนกัน

๔.  อปจายนะ คือ  การทำความนับถือ อ่อนน้อมลุกขึ้นต้อนรับแก่ท่านผู้เจริญด้วยชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิด้วยใจที่ไม่เศร้าหมอง ซึ่งเว้นจากความหวังตอบแทนในปัจจัย ๔ มีเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ผู้เจริญด้วยชาติวุฒิ เช่น พระมหากษัตริย์  พระบรมวงศานุวงศ์ , ผู้เจริญด้วยวัยวุฒิ คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่าเรา เช่น มารดา บิดา ลุง ป้า น้า อา , ผู้เจริญด้วยคุณวุฒิ คือ ผู้ที่มีคุณธรรมมากกว่าเรา เช่น พระภิกษุ สามเณร แม่ชี บางทีท่านอายุน้อยกว่าเรา รุ่นลูกรุ่นหลานแต่เราก็อ่อนน้อมต่อท่าน เพราะถือว่าท่านมีศีลมากกว่าเรา เป็นต้น รวมไปถึงผู้บังคับบัญชา ผู้ปกครอง เจ้านาย ผู้จัดการ บางทีอายุน้อยกว่าเรา แต่เราก็อ่อนน้อมต่อเขา อันนี้เรียกว่า เราประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นบุญประการที่ ๔

๕.  เวยยาวัจจะ  คือ การช่วยเหลือการงานของผู้อื่น เช่น ช่วยยกของ ช่วยคนเจ็บไข้ได้ป่วย จูงคนแก่ข้ามถนน เวลามีงานบุญก็ช่วยจัดของ จัดสถานที่ ขับรถไปรับพระมางาน ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้าน เป็นต้น

๖.   ปัตติทานะ  คือ  การให้ส่วนบุญกุศลที่ตนเองกระทำแล้วแก่ผู้อื่น ถ้าผู้อื่นมีชีวิตอยู่ เราให้ส่วนบุญได้เลย เช่น พูดว่า วันนี้ไปถวายสังฆทานมา เอาบุญมาฝาก เรียกว่า แผ่บุญกุศลให้ ถ้าเขารับ เขาก็พูดว่า ขออนุโมทนาบุญด้วยแต่ถ้าผู้อื่นเสียชีวิตแล้ว เราก็กรวดน้ำไปให้ เราทำเช่นนี้ก็สำเร็จเป็นบุญประการที่ ๖

๗.  ปัตตานุโมทนา  คือ การอนุโมทนาหรือการพลอยยินดีบุญที่ผู้อื่นให้แล้ว (แผ่บุญให้) หรือไม่ได้ให้ก็ตาม ด้วยจิตที่ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ เช่น เราเห็นผู้อื่นทำบุญ ใส่บาตร ถวายสังฆทาน ถวายกฐิน ผ้าป่า บวชพระ บวชสามเณร หรือทำความดีต่าง ๆ เราก็อนุโมทนาด้วย มีใจชื่นชมยินดีในบุญที่เขากระทำ อันนี้ก็สำเร็จเป็นบุญประการที่ ๗

๘.  ธรรมสวนะ  คือ  การฟังธรรม รวมถึงการรับฟังข้อแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เช่น เราฟังธรรมนี้อย่างนี้แล้ว ปฏิบัติตามนัยที่ท่านกล่าวแล้วในธรรมนั้น จักเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณวิเศษ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระหรือว่าเราฟังธรรมมากแล้ว จักอนุเคราะห์แก่ผู้อื่น ด้วยกิจมีการแสดงธรรม เป็นต้น ทำเช่นนี้ก็สำเร็จเป็นบุญประการที่ ๘

๙.   ธรรมเทศนา  คือ  การแสดงธรรม หรือการแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล โดยไม่มุ่งถึงอามิส มีลาภและสักการะเป็นต้น เช่น พระภิกษุ-สามเณร ตั้งใจแสดงธรรมให้ญาติโยมทั้งหลายได้รับฟัง หรือเราช่วยสอนหนังสือ ช่วยสอนวิชาชีพต่าง ๆ ช่วยให้ความรู้แก่ผู้อื่น อันนี้ก็สำเร็จเป็นบุญประการที่ ๙

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม  คือ  การทำความเห็นให้ตรง ให้ถูกตามความเป็นจริง   ซึ่งมี ๑๐ ประการตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การทำความเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้อง เช่นนี้ ก็สำเร็จ เป็นบุญแก่ผู้นั้นเป็นประการที่ ๑๐

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นกรรมดี ให้ผลทั้งในปัจจุบันชาติและให้ผลเกิดในสุคติทั้ง ๗ ภูมิ

                                    “  ยศและลาภ  หาบไป  ไม่ได้แน่

                                    เว้นเสียแต่ ต้นทุน  บุญกุศล

                                    ทิ้งสมบัติ ทั้งหลาย  ให้ปวงชน

                                    ร่างของตน เขายังเอา ไปเผาไฟ”

            ต่อไปจะกล่าวถึงอีก ๒๐ ภูมิที่เหลือ แบ่งเป็น ๒ อย่าง

๑.     รูปภูมิ  (เป็นภูมิของผู้ที่เจริญสมาธิจนได้ถึงขั้นรูปฌาน) มี ๑๖ ชั้น

๒.    อรูปภูมิ  (เป็นภูมิของผู้ที่เจริญสมาธิจนได้ถึงขั้นอรูปฌาน) มี ๔ ชั้น

รูปภูมิ ๑๖ ชั้น หรือ ๑๖ ภูมิ มีดังนี้ คือ

ผู้ที่ได้ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑)  จะเกิดใน ๓ ภูมินี้ คือ

(๑)    พรหมปาริสัชชาภูมิ  เป็นที่อยู่ของพรหมชั้นบริษัท คือ พรหมทั่วไป

(๒)   พรหมปุดรหิตาภูมิ  เป็นที่อยู่ของพรหมชั้นปุโรหิต คือ พรหมที่เป็นที่ปรึกษา

(๓)   มหาพรหมาภูมิ  เป็นที่อยู่ของพรหมที่เป็นใหญ่เป็นหัวหน้า

ผู้ที่ได้ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) และตติยฌาน (ฌานที่ ๓) จะเกิดใน ๓ ภูมินี้ คือ

(๔)   ปริตตาภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของพรหมชั้นบริษัท

(๕)   อัปปมาณาภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของพรหมชั้นปุโรหิต

(๖)    อาภัสสราภูมิ  เป็นที่อยู่ของมหาพรหม

ผู้ที่ได้จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) จะเกิดใน ๓ ภูมินี้ คือ

(๗)   ปริตตสุภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของพรหมชั้นบริษัท

(๘)   อัปปมาณสุภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของพรหมชั้นปุโรหิต

(๙)    สุภากิณหาภูมิ  เป็นที่อยู่ของมหาพรหม

ผู้ที่ได้ปัญจมฌาน (ฌานที่ ๕) จะเกิดใน ๗ ภูมินี้ คือ

(๑๐)         เวหัปผลาภูมิ  เป็นภูมิของผู้ที่ได้ปัญจมาฌาน

(๑๑)         อสัญญสัตตภูมิ  เป็นภูมิของผู้ที่ได้ปัญจมฌานที่เจริญสัญญาวิราคภาวนาต่อ

(๑๒)        อวิหาภูมิ  เป็นภูมิของพระอนาคามีที่มีศรัทธามาก

(๑๓)        อตัปปาภูมิ  เป็นภูมิของพระอนาคามีที่มีวิริยะมาก

(๑๔)        สุทัสสาภูมิ  เป็นภูมิของพระอนาคามีที่มีสติมาก

(๑๕)        สุทัสสีภูมิ  เป็นภูมิของพระอนาคามีที่มีสมาธิมาก

(๑๖)         อกนิฏฐาภูมิ  เป็นภูมิของพระอนาคามีที่มีปัญญามาก

 

อรูปภูมิ ๔ ชั้น หรือ ๔ ภูมิ มีดังนี้ คือ

(๑๗)        อากาสานัญจยตนภูมิ  เป็นภูมิของผู้ที่ได้อากาสานัญจายตนฌาน

(๑๘)        วิญญาณัญจายตนภูมิ  เป็นภูมิของผู้ที่ได้วิญญาณัญจายตนฌาน

(๑๙)         อากิญจัญญายตนภูมิ  เป็นภูมิของผู้ที่ได้อากิญจัญญายตนฌาน

(๒๐)        เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ  เป็นภูมิของผู้ที่ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

 

ถามว่า ทำกรรมอะไรจึงไปเกิดใน ๒๐ ภูมินี้ ตอบว่าทำกุศลประเภทภาวนา คือ เป็นผู้ที่เจริญภาวนาจนได้ฌานอย่างต่ำที่สุดปฐมฌาน ก่อนตาย ถ้าฌานไม่เสื่อม ก็จะเกิดในพรหมโลกทั้ง ๒๐ ภูมินี้ ท่านเหล่านี้ละนิวรณ์ ๕ ได้ ด้วยการข่มไว้ด้วยอำนาจของฌาน ไม่ยินดีเรื่องของการคุณ ๕ ยินดีในฌานซึ่งเป็นสุขที่ประณีตกว่า นี้เป็นการกล่าวอย่างกว้าง ๆ ถามว่า นิวรณ์ ๕ (คือ ธรรมชาติที่กางกั้นกุศลจิตที่จะเกิดขึ้นด้วยอำนาจฌานเป็นต้น ไม่ให้เกิดขึ้น) ที่ท่านเหล่านั้นละได้มีอะไรบ้าง ตอบว่า มี ๕ ประการ ดังนี้ คือ

๑.            กามฉันทนิวรณ์  คือ ความกำหนัด  พอใจในการคุณ ๕

๒.     พยาบาทนิวรณ์  คือ  ความอาฆาต ความโกรธ ผู้โกรธผู้อื่น เป็นต้นว่า “บุคคลนี้ได้ทำความเสียหายแก่เรา แก่คนที่เรารัก  เช่น  มารดา บิดา คู่รัก บุตรธิดา หรือบุคคลนี้ได้ทำดีกับคนที่เราโกรธ เราก็พลอยโกรธเขาไปด้วย”  รวมทั้งความโกรธที่ไม่น่าจะโกรธ  เช่นเราเดินไปชนโต๊ะก็โกรธ ว่าใครเอาโต๊ะมาตั้งตรงนี้ ความจริงโต๊ะเขาตั้งอยู่ประจำอยู่แล้วแต่เราเดินไปชนเอง เป็นต้น

๓.          ถีนมิทธนิวรณ์  คือ  ความหดหู่ ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน ต่อการเจริญฌาน

๔.     อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์  คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ  เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่สงบ จึงขัดขวางไม่ให้ฌานเกิดขึ้น

๕.     วิจิกิจฉานิวรณ์  คือ ความลังเลสงสัย ทำให้การเพ่งอารมณ์กรรมฐานต้องเสียไป ไม่สามารถเข้าฌานได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงการที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ใน ๓๑ ภูมิ นี้ไม่เกินจากนี้ ท่านเรียกว่า สังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิดของคน และสัตว์ทั้งหลายในภพภูมิต่าง ๆ นั่นเอง ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่าง ๆ อีก มีทางเดียว คือ เจริญมรรค ๘ ซึ่งมีสติปัฏฐาน ๔ (ที่ตั้งแห่งสติ ๔ อย่าง คือ  กาย เวทนา จิต ธรรม) เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น จึงจะสามารถละกิเลสได้หมดสิ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องมาเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป  ถ้ายังไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานได้เวลาทำกุศลอื่น ๆ ควรตั้งความปรารถนาให้ถึงพระนิพพานเพื่อเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง และยังทำให้เราเกิดในสุคติภูมิต่อ ๆ ไปด้วย

 

“    จากเมื่อตาย ใครเล่า  จะเฝ้าเห็น

จากเมื่อเป็น  ยังมาพบ ประสบศรี

มามือเปล่า ทรัพย์สมบัติ ที่ไหนมี

     แม้ร่างกาย กายี ต้องสิ้นไป

บุญและบาป ที่เราทำ นำสนอง

    นำเที่ยวท่อง หันเห ฉเลไหล

บุญให้สุข  ทุกข์เพราะบาป ขนาบไป

   กว่าจะได้ มรรคผล  ดลนิพพาน    ” 

 

 

คัดจากหนังสือ             ตายแล้วไปไหน ?

เรียบเรียงโดย               พระมหาสุสวัสดิ์  จนฺทปญฺโญ ป.ธ.๙

พิมพ์โดย                     สุวิภา  กลิ่นสุวรรณ์