หญิง-ชาย ใครว่าเท่าเทียม
เรื่องโดย ฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัฒนา

ฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัตฒนา ลูกศิษย์เจ้าปัญหา กับอาจารย์ดร.สนอง วรอุไร ผู้เปี่ยมประสบการณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม จะสนทนากันเรื่องสิทธิสตรีว่า แท้จริงแล้วในทางธรรม ผู้หญิงจะเท่าเทียมกับผู้ชายได้หรือไม่ และการเรียกร้องสิทธิสตรีที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกนั้น แท้จริงแล้วที่ถูกต้อง ควรทำแค่ไหน อย่างไร

อาจารย์คะ การเกิดเป็นผู้หญิงนั้น เห็นได้ชัดว่าต้องใช้ชีวิตอย่างมีข้อจำกัดมากกว่าผู้ชาย ในทางธรรมแล้ว เพศหญิงไม่เท่าเทียมกับเพศชายจริงไหมคะ

จริงลูก ถ้าหมายถึงโลกิยธรรมเพราะตามธรรมชาติแล้ว เพศหญิงกับเพศชายนั้นไม่เท่าเทียมกัน เพราะผู้หญิงอยู่ในเพศที่ไม่ปลอดภัย มีสภาวะของจิตอ่อนไหว มีสรีระบอบบาง และรับสิ่งกระทบมาปรุงอารมณ์ได้มากกว่าเพศชาย จึงเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ง่าย ทำให้ต้องมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตมากกว่า ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลของภิกษุณีสงฆ์ไว้ถึง 311 ข้อ ในขณะที่ศีลของภิกษุสงฆ์ทรงบัญญัติไว้เพียง 227 ข้อ เท่านั้น


ทำไมล่ะค่ะอาจารย์

เพราะจิตที่อยู่ในร่างกายของเพศหญิงนั้นต้องอาศัยศีลมากกว่า ถึงจะคุมจิตมิให้หวั่นไหวได้เท่าเทียมกับจิตที่อยู่ในร่างของเพศชาย


หมายความว่าจิตของผู้หญิงมีความแน่วแน่และมีพลังน้อยกว่าผู้ชายหรือคะ

ไม่ใช่ลูก ตัวจิตเองนั้นมีศักยภาพเท่าเทียมกัน แต่ร่างของเพศหญิงเป็นร่างที่เปิดโอกาสให้จิตรับสิ่งกระทบมากกว่าร่างของเพศชาย จึงต้องอาศัยศีลมากกว่าในการควบคุมกาย วาจา ใจ ของเพศหญิงให้บริสุทธิ์ แต่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้ว จิตของทั้งเพศชายและเพศหญิงจะมีศักยภาพเท่ากัน


ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ผู้หญิงบรรลุธรรมยากกว่าผู้ชายใช่ไหมคะ

ยากกว่า เพราะจิตอยู่ในร่างที่รับสิ่งกระทบมากกว่า


อย่างนี้การเกิดเป็นผู้ชายก็นับว่าโชคดีกว่าการเกิดเป็นผู้หญิงจริงๆ น่ะสิคะ

ใช่ลูก โชคดีกว่าในด้านการพัฒนาจิตให้เข้าถึงธรรม เพราะการอยู่ในเพศหญิงนั้นมีข้อจำกัดมาก เช่น ถึงแม้จะเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่การดำรงชีพแต่เพียงผู้เดียวสำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องอันตราย ดูอย่างพระอุบลวรรณาสิ แม้จะบรรลุอรหัตผลแล้ว แต่ก็ยังถูกนันทมาณพข่มขืน เพราะท่านไปปฏิบัติธรรมอยู่แต่เพียงผู้เดียวที่กุฏิในป่าอัมพวัน ด้วยเหตุนี้ ในพระวินัยจึงระบุไว้ว่า ภิกษุณีห้ามอยู่วัดโดยไม่มีภิกษุสงฆ์อยู่ด้วย เพราะจะไม่ปลอดภัย นี่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติศีลอีกหลายๆข้อสำหรับภิกษุณีสงฆ์ เช่นภิกษุณีสงฆ์แม้จะบวชมานานเท่าไร หรือบรรลุธรรมขั้นไหนก็ตาม ยังต้องกราบไหว้พระภิกษุที่บวชแม้เพียงวันเดียว ฯลฯ นี่เป็นกุศโลบายย้ำเตือนเพศหญิงให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ให้อัตตานำหน้าจนคิดว่าฉันอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว การเกิดเป็นผู้หญิงไม่เท่าเทียมกับการเกิดเป็นผู้ชาย


ถ้าอย่างนั้นการออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีที่ทำกันอยู่ทั่วโลก ก็เป็นสิ่งที่ผิดนะสิคะ

การเรียกร้องสิทธิสตรีให้เท่าเทียมกับผู้ชาย เป็นสิ่งที่คนทางโลกเขาทำกัน โดยไม่ดูความถูกต้องในทางธรรม เรื่องอย่างนี้ในทางโลกอาจจะเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันได้ แต่ในทางธรรมแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้


เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ผู้หญิงทั้งหลายความจะอยากเกิดเป็นผู้ชายหรือเปล่าค่ะ

ไม่จำเป็น เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของแต่ละคน เพราะไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้เหมือนกัน เพียงแต่ก่อนที่จะบรรลุนั้น ความเสมอภาคทางร่างกายมีต่างกัน แต่ความเสมอภาคทางจิตใจเมื่อบรรลุธรรมแล้วมีเหมือนกัน


กรรมอะไรทำให้คนเราเกิดเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายคะ

หนึ่ง คือ การประพฤติ สอง คือ ความปรารถนา เหมือนในครั้งพุทธกาล เจ้าหญิงโคปกาเกิดเป็นผู้หญิงแล้วรู้สึกว่าเป็นเพศที่มีภาระและปัญหามาก จึงอธิษฐานขอเกิดเป็นผู้ชาย แล้วทำเหตุให้ถูกตรง ในที่สุดจึงไปเกิดเป็นโคปกเทพบุตรอยู่บนสวรรค์

การทำเหตุให้ถูกตรงสำหรับการไปเกิดเป็นผู้ชาย ก็คือการประพฤติจริยธรรมของการเป็นผู้หญิงให้ถูกตรงตามธรรมเช่น ทำตัวเป็นลูกสาวที่ดี เป็นภรรยาที่ดี เป็นแม่ที่ดี นอกจากนั้นก็ต้องทำจิตให้มีลักษณะแบบผู้ชาย เช่น ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก เพราะถ้าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ นั่นคือลักษณะนิสัยที่จะทำให้ไปเกิดเป็นผู้หญิงต่อไปอีก


อาจารย์คะ ถ้าผู้หญิงมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ไม่ต่างจากผู้ชาย แล้วทำไมปัจจุบันนี้การบวชเป็นภิกษุณี จึงเป็นสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาในบ้านเมืองเราล่ะคะ

อาจารย์ต้องเท้าความอดีตก่อนว่า ในครั้งพุทธกาล พุทธบริษัท 4 นั้นประกอบไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา

ภิกษุณีรูปแรกของพระพุทธศาสนาคือ พระมหาปชาบดีโคตรมี ซึ่งเป็นพระมาตุจฉาหรือพระน้านางของพระพุทธเจ้า แต่กว่าจะได้บวช พระพุทธเจ้าทรงไม่อนุญาตอยู่ถึง ๒ ครั้งจนกระทั่งในครั้งที่ ๓ พระนางมหาปชาบดีโคตรมีทรงปลงผมและนุ่งผ้าย้อมฝาด แล้วเดินเท้าเปล่าจากรุงกบิลพัสดุ์มายืนร้องไห้อยู่หน้ากุฏาคารศาลาที่แคว้นวัชชี พระอานนท์ออกไปเห็นเข้าจึงไปถามไถ่ดู เมื่อได้ความแล้วจึงรับอาสาไปจัดการให้และเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อผู้หญิงปฏิบัติธรรมแล้วจะบรรลุธรรมได้ไหม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตอบว่าได้ พระอานนท์จึงทูลถามต่อว่า แล้วเหตุใดจึงทรงไม่อนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตรมีบวช ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องประพฤติครุธรรม ๘ ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อวัดใจผู้บวชที่เป็นหญิงว่ามีความมั่นคงต่อพระพุทธศาสนาจริงๆ


ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ตั้งแต่แรกคะอาจารย์

เพราะทรงเกรงว่า หากรับเพศหญิงที่ไม่มีความมั่นคงในพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นนักบวชแล้ว อาจเกิดข้อครหาที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุได้ เนื่องจากในสมัยพุทธกาลไม่เคยมีศาสนาใดอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักบวชมาก่อน ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงทรงบัญญัติไว้ด้วยว่า การบวชเป็นภิก ษุณีนั้นต้องบวชด้วยสงฆ์สองฝ่าย คือทั้งฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายภิกษุสงฆ์

ทุกวันนี้ประเทศที่ปฏิบัติตามพระวินัยข้อนี้ได้ มีเหลืออยู่เพียงประเทศศรีลังกา ด้วยเหตุนี้ภิกษุณีในประเทศไทยของเราจึงต้องไปบวชมาจากประเทศศรีลังกา แล้วค่อยกลับมาเป็นภิกษุณีสงฆ์อยู่ที่บ้านเรา แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย


แล้วอย่างนี้ในฐานะชาวพุทธ เราควรจะเห็นด้วยกับการมีภิกษุณีในเมืองไทยไหมคะ

ขึ้นอยู่กับสภาวะความรู้แจ้งของจิต หากจิตของเรามีปัญญาเห็นแจ้งแล้ว เราย่อมรู้ว่าไม่ว่าจิตจะอยู่ในเพศชายหรือหญิงก็สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจิตจึงไม่มีเพศด้วยเหตุนี้ผู้รู้จริงจึงเห็นด้วยกับการอนุญาตให้ผู้หญิงบวช เพราะรู้ว่าการบวชเป็นเรื่องของจิตที่มีศักยภาพในการบรรลุธรรมได้เท่าเทียมกัน ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เข้าใจนะลูก


เข้าใจแล้วค่ะอาจารย์

ครุธรรม 8 ประการ (โดยสรุป) ได้แก่

     1.  ภิกษุณีต้องกราบไหว้ภิกษุ แม้มีอายุพรรษาน้อยกว่าเสมอ

     2.  ภิกษุณีต้องจำพรรษาในวัดที่มีภิกษุอยู่ด้วยเสมอ

     3.  ภิกษุรีต้องเป็นฝ่ายรับการสั่งสอนจากภิกษุเสมอ

     4.  ภิกษุต้องปวารณาในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

     5.  เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักรองจากปาราชิก) จะต้องประพฤติมานัตต์ (การเข้าปริวาสกรรม-การอยู่ในบริเวณที่กำจัดและปฏิบัติธรรมเป็นเวลาต่อเนื่อง เพื่อลดละกิเลส) ตลอดปักษ์ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

     6.  ภิกษุณีต้องเป็นผู้ศึกษาธรรมและรักษาศีล 6 ข้อ (เพิ่มข้อห้ามกินยามวิกาลจากศีล 5) เป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะได้รับการบวชโดยสงฆ์ทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

     7.  ห้ามมิให้ภิกษุณีด่าว่าภิกษุสงฆ์ไม่ว่าในกรณีใดๆ

     8.  ห้ามมิให้ภิกษุณีว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุ

ทั้งหมดนี้เป็นธรรมที่ภิกษุณีพึงสักการะ นับถือ เคารพ บูชาและไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต