วางได้ใจไม่ทุกข์ เรื่องโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

     เราต่างปรารถนาความสุข หากความสุข มีที่ที่เราจะหาได้หรือซื้อหาเอามาได้ เราคงได้พบกับความสุขตามที่เราต้องการโดยไม่ยากนัก

     เราต่างก็ยอมรับว่าความสุขอยู่ที่ใจ ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าความสุขอยู่ภายในตัวเรานั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปหาความสุขนอกตัว และไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายซื้อหาความสุข

     เราน่าจะมีความสุขได้ในทุกครั้งที่เราต้องการ เพราะมันอยู่ภายในใจของเรานี่เอง แต่กระนั้นในบางครั้ง ทำไมเราจึงมีความทุกข์มากนัก ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการความทุกข์เลย

     พระพุทธองค์ตรัสว่า โลกถูกจิตนำไป โลกก็คือสัตว์โลกหรือสรรพชีวิตที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ มีใจของตนนำพาชีวิตของตนไป หากพูดในทางสังคมวิทยาก็หมายความว่า การกระทำของเราทุกอย่างเกิดจากความคิดจิตใจของเรา นั่นหมายถึงว่า สิ่งที่เราได้ มี เป็น อยู่ ทุกๆขณะ รวมทั้งสุข-ทุกข์ของเรา เกิดจากการกระทำของเราทั้งสิ้น หาใช่พระพรหมลิขิตหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลไม่

     เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำอย่างไรเราจึงจะพัฒนาความคิดของเราให้มีคุณภาพ คือมีทั้งศักยภาพทางโลกและมีคุณงามความดีในทางธรรม เพื่อนำความสุขความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับชีวิต

     ต้องเข้าใจก่อนว่า จิตใจของทุกๆคนนั้น มีทั้งฝ่ายดีคือคุณธรรมและฝ่ายไม่ดีคือกิเลสตัณหาเข้าไปครองครองอยู่ ทั้งสองฝ่ายได้ฝังอยู่ใจจิตมายาวนาน ต่างทำหน้าที่ของตนและแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา กล่าวได้ว่า ความดีและความชั่วอาศัยจิตเป็นสนามต่อสู้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สืบเนื่องมายาวนาน

     เมื่อความดีกับความชั่วต่อสู้กัน หรือเมื่อเหตุผลกับอารมณ์ต่อสู้กัน ฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะ

     คนส่วนใหญ่จะตอบว่า ความดีชนะความชั่ว เหตุผลชนะอารมณ์

     แต่ตามกฎธรรมชาติ ฝ่ายที่มีกำลังมากกว่า ย่อมเอาชนะฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่า

     เหตุใดบางครั้งเราจึงทำดี และบางคราวเราจึงทำชั่ว

     ทุกครั้งที่เราทำดี เป็นเพราะฝ่ายกุศลที่มีอยู่ในจิตชักนำให้ทำ ทุกคราวที่เราทำชั่วเป็นเพราะฝ่ายอกุศลจิตชักนำให้ทำ อย่างไรก็ตามในบางครั้งเราคิดจะทำชั่ว แต่เราก็หักห้ามใจไม่ทำชั่ว นั่นเป็นเพราะขณะนั้นฝ่ายกุศลจิตมีกำลังเหนือกว่าฝ่ายอกุศล ในทางตรงข้าม บางครั้งเราคิดทำชั่วทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นความชั่ว ใจของเราต่อสู้กับความชั่ว ในที่สุดก็ไม่สามารถเอาชนะความชั่วได้ จึงทำชั่วลงไป นั่นเป็นเพราะขณะนั้นฝ่ายอกุศลในจิตมีกำลังมากกว่าฝ่ายกุศล

     จิตของเราไม่คงที่ ความรู้สึกและความต้องการของเราจึงเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ในสถานการณ์หนึ่งเราอาจจะหักห้ามความต้องการหรือการกระทำของเราได้ แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่งเรากลับไม่สามารถหักห้ามใจของเราได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกำลังของฝ่ายกุศลและอกุศลที่มีอยู่ในใจของเราเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย

     ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเพื่อหาซื้อครีมอาบน้ำ เราเดินผ่านซุ้มเสื้อผ้า ตาเหลือบไปเห็นเสื้อตัวหนึ่ง (ผัสสะ) ความรู้สึกชอบ (เวทนา) ก็เกิดขึ้นทันที ความอยากได้ (ตัณหา) ก็เกิดตามมา เราเข้าไปดูเสื้อผ้าตัวนั้นอย่างใกล้ชิด เห็นราคาค่อนข้างแพง ความลังเลก็เกิดขึ้นว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ที่สุดก็ตัดสินใจไม่ซื้อ เดินจากไป ช่วงนี้จิตได้ผ่านการต่อสู้ระหว่างกิเลสตัณหาคือฝ่ายอยากได้เสื้อ กับสติปัญญาคือความประหยัด การที่เราไม่ซื้อเสื้อ แสดงว่าฝ่ายสติปัญญาชนะ ทำให้เราไม่ยึดติด (อุปาทาน) กับความอยากได้ (ตัณหา)

     ครั้นเราเดินต่อไปสักครู่หนึ่งเห็นคนใส่เสื้อสวย ความอยากได้เสื้อตัวนั้นก็ผุดขึ้นมาอีก ตอนนี้เราต้องเดินกลับไปหาเสื้อตัวนั้น ที่สุดเราก็ตัดสินใจซื้อ นี่แสดงว่าเรามีความยึดติด (อุปาทาน) กับเสื้อตัวนั้น ส่งให้ความอยากได้ (ตัณหา) มีกำลังมากขึ้นจนเอาชนะใจของเราได้ หากเราไม่ยึดติดกับเสื้อตัวนั้น ความอยากเมื่อเกิดขึ้นไม่ได้รับการตอบสนองก็จะดับไป ไม่มีกำลังมากพอที่จะเอาชนะใจของเราได้

     ความยึดติดนี่เองที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของเรา ทำให้เราหาความสุขไม่ค่อยได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า อุปาทานหรือความยึดติดในความเห็นว่าเป็นตัวเราและของเรา ทำให้เราเป็นทุกข์ ตามธรรมดาแล้วทุกชีวิตย่อมประสบกับสิ่งที่สมหวังและผิดหวัง สิ่งที่ไม่สมหวังและผ่านแล้วหากเรายังไม่ปล่อยวางทางใจ กลับไปยึดติดครุ่นคิดคำนึงถึงสิ่งนั้น อยากจะบังคับให้ได้อย่างใจ ยิ่งทำให้ทุกข์ใจ

     เมื่อยึดติดสิ่งใด ก็เท่ากับเราเอาใจไปผูกไว้กับสิ่งนั้น ใจจึงไม่มีอิสระ ครั้นสิ่งนั้นถูกระทบ ใจก็พลอยกระเทือนไปด้วย ยิ่งเมื่อพลัดพรากจากของรัก ใจก็โหยหาอาลัย จมปลักอยู่ในความทุกข์

     การฝึกใจให้มีความฉลาด โดยการเรียนรู้ธรรมชาติความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ดังใจ หรือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะช่วยเติมกำลังฝ่ายกุศลเข้าไปในจิตได้เป็นอย่างดี เพื่อให้จิตมีความเข้มแข็งที่จะเอาชนะกิเลสตัณหา และถอดถอนอุปาทานหรือความยึดมั่นสำคัญผิดลงไปได้

     จิตที่ฝึกดีแล้วควรแก่การใช้งาน จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้