นอนอย่างไรจึงเรียก

“สีหไสยาสน์”

โดย.. มหานาลันทา

            เมื่อพูดถึงพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ ท่านที่เป็นชาวพุทธก็ย่อมจะนึกถึงภาพของพระนอนที่มีขนาดต่างๆ ตั้งแต่เล็กสุดจนถึงใหญ่สุด  ที่ประดิษฐานอยู่ตามัดวาอารามทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

            พระพุทธไสยาสน์นี้จะอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตรพระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายวางทอดทาบไปตามร่างกายด้านซ้ายพระหัตถ์ขวาหงายอยู่กับพื้นข้างพระเขนย พระบาททั้งสองตั้งเรียงซ้อนกัน ลักษณะการนอนดังกล่าวนี้ เรียกว่าสีหไสยาสน์ เป็นการนอนของราชสีห์ว่ากันว่า  ราชสีห์นั้นเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ และสง่างามในท่วงท่าและอิริยาบถ แม้ในการนอนก็ต้องนอนด้วยอาการอันสำรวม  คือเวลานอนจะใช้เท้าลูบฝุ่นที่นอนให้เรียบเสมอกัน  แล้วจึงจะตะแคงตัวด้านขวาลงนอน  เท้าทั้งสี่จะอยู่ในอาการอันสำรวม ไม่เหนียดหรือกางออกเหมือนสัตว์อื่น และจะกำหนดในใจว่าจะนอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ และตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด

            ก็ในพระพุทธศาสนานั้น  พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุผู้กระทำความเพียรเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ให้สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ หรือสีหไสยาสน์  ดังที่กล่าวมาแล้ว  แต่มีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เพราะที่กล่าวมาแล้วนั้น  กล่าวตามลักษณะของพระพุทธรูปที่ช่างปั้นขึ้น

            แต่จริง ๆ แล้ว ท่านสอนให้นอนตะแคงขวา ศีรษะหนุนหมอน มือซ้ายวางทาบไปตามร่างกายด้านซ้าย มือขวาวางหวายแนบกับในหน้า  เพื่อไม่ให้คอพลิกไปมา วางเท้าเหลื่อมเท้า กำหนดในใจ มีสติสัมปชัญญะตลอดเวลาและจะตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด

            ข้อที่บอกว่าวางเท้าเหลื่อมเท้านั้น เพราะว่าคนเรามีอุ้งเท้าที่โค้ง เมื่อวางเท้าซ้ายเหลื่อมเท้าขวา อุ้งเท้าซ้ายจะวางอยู่บนสันเท้าขวา ซึ่งมีความโค้งมนส้นเท่าขวาจะรองรับน้ำหนักของเท้าซ้ายได้พอดี และไม่พลัดตกลงมาเท้าทั้งสองที่เหยียดออกไปก็ไม่ถึงกับต้องตรง แต่จะงอเข่าทั้งสองข้างลงเล็กน้อยจะทำให้หัวสะบ้าเข่าข้างซ้ายกดทับลงบนข้อพับด้านขาขวา ข้อพับขวาจะมีลักษณะโค้งอ่อนนุ่ม ก็จะพยุงหัวเข่าซ้ายไว้ไม่ให้พลิก มือซ้ายที่วางบนร่างกายด้านซ้ายนั้น  ไม่เหยียดตรง แต่จะงอเล็กน้อยให้น้ำหนักอยู่ตรงกลางระหว่างข้อศอกกับปลายก็จะเป็นท่านอนที่ถูกต้องกับสรีระของคนเรา

            ผิดกับรูปปั้นที่ช่างต้องปั้นให้มีเท้าทั้งสองซ้อนกัน  เพื่อที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า  พระบาทของพระพุทธเจ้าเรียบเสมอกัน และต้องปั้นให้พระบาททั้งสองเหยียดตรง และพระหัตถ์ซ้ายที่วางทาบบนพระวรกายนั้นก็เหยียดตรงเช่นกัน

            พระพุทธเจ้าของเรานั้นทรงแสดงธรรมตอนหัวค่ำช่วง ๒๒.๐๐-๒๔.๐๐ น.แก่สาวกที่มาจากทิศต่าง ๆ เวลาพ้นเที่ยงคือไปจนตี่สองทรงแสดงธรรมแก่เหล่าเทวดา  เวลาใกล้รุ่งค่อนสว่างทรงพิจารณาถึงหมู่สัตว์ว่าผู้ใดจะมีอุปนิสัยบรรลุก็จะเสด็จไปโปรด

            เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาทั้งสามยามนี้พระองค์จะเสด็จบรรทมสีหไสยาสน์ซึ่งแต่ละช่วงจะไม่เกิน ๒ ชั่วโมง

            เห็นได้ว่าการนอนในท่าสีหไสยาสน์นี้  จะมีคุณอเนกประการแก่ผู้ที่ตรากตรำทำงานอย่างเคร่งเครียด เช่น นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องดูหนังสือสอบ รวมทั้งนักบริหารทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายลองสำเร็จการนอนแบบสีหไสยาสน์แล้วจะพบว่าเมื่อตื่นขึ้นมาท่านจะทำงานต่อไปได้อย่างสดชื่น  และจะรู้ว่าจิตนี้อัศจรรย์จริง

 

จากหนังสือ      ธรรมลีลา ฉบับที่ 37 ธันวาคม 2546