สังฆคุณ ๙

โดย...มุทิตา

            คำในกลุ่มนี้อีกคำหนึ่งคือ “สังฆคุณ ๙”  ก็เป็นบทสวดสรรเสริญคุณของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย  ความหมายคำนี้ รองศาสตราจารย์ดนัย  ไชยโยธา  ได้เขียนอธิบายไว้ใน พจนานุกรม  พุทธศาสน์  ดังนี้

            คุณของพระสงฆ์ หมายถึง  คุณความดีที่พระสงฆ์มีอยู่ประจำตน  พระสงฆ์ที่มีคุณความดีได้รับยกย่องมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือพระอริยสงฆ์ พระสงฆ์ผู้บรรลุมรรคและผลขั้นต่าง ๆ สำหรับสมมติสงฆ์ พระสงฆ์โดยสมมติในปัจจุบันนี้หากมีข้อวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสศรัทธา  ก็อนุโลมตามคุณของพระอริยสงฆ์ได้

            สังฆคุณมี ๙ ประการ ๔ ประการแรกเป็นเหตุและ ๕ ประการหลังเป็นผลดังต่อไปนี้

            ๑.สุปฏิปันโน  พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีคือ ๑.ปฏิบัติไม่ตามมัชฌิมาปฏิปทา  อันเป็นทางสายกลาง ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงเครียดนัก ๒.ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติได้ดีเท่าเดิม หรือก้าวหน้าสูงขึ้นไป ๓.ปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

            ๒.อุขุปฏิปันโน  พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ  ๑. ไม่ปฏิบัติลวงโลก  คือ ปฏิบัติต่อหน้าคนอย่างหนึ่ง ปฏิบัติลับหลังคนอีกอย่างหนึ่ง ๒. ไม่ปฏิบัติเพื่อโอ้อวด คือปฏิบัติเพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่าตนปฏิบัติเคร่งครัดกว่าใคร ๆ ๓. ปฏิบัติตรงต่อพระพุทธเจ้า และพระสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ไม่มีแง่งอน

            ๓.ญายปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทางคือ ๑.ปฏิบัติมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ๒.ปฏิบัติถือความถูกต้องเป็นสำคัญ ๓.ปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้

            ๔.สามีจิปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติสมควรคือ ๑. ปฏิบัติน่านับถือ  สมควรได้รับความเคารพ ๒.ปฏิบัติชอบอย่างยิ่ง ๓.ปฏิบัติดีที่สุด

            ๕.อาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่สิ่งของคำนับ คือ  ควรได้รับสิ่งของที่เขานำมาถวาย เพราะท่านมีคุณสมบัติ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ด้วยว่าสิ่งที่เรียกว่าอาหุนะ เป็นของที่ท่านใช้บูชาคุณความดีของคน เมื่อพระสงฆ์ประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นนั้น จึงควรแก่อาหุนะ คือสิ่งของคำนับ

            ๖.ปาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ คือ ผู้ปฏิบัติงามเช่นนี้ เมื่อท่านไปในบ้านเมืองใด ย่อมเป็นผู้สมควรแก่การต้อนรับเหมือนการต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ พระสงฆ์อยู่ในฐานะนั้น

            ๗.ทักขิเณยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาควรแก่สิ่งของทำบุญ คือ พระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมได้รับประโยชน์ตามที่ปรารถนา แม้การอุทิศกุศลเพื่อผู้ตาย พระสงฆ์ก็จัดเป็นทักขิไณยบุคคล คือ ควรรับทักษิณาทานนั้น ๆ

            ๘.อัญชลีกรณีโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือ พระสงฆ์เป็นผู้มีคุณความดีอยู่ในสันดาน  ย่อมอยู่ในฐานะที่ใคร ๆ ควรแสดงความเคารพด้วยการกราบไหว้ เพราะทำให้ผู้ไหว้มีความรู้สึกว่าตนได้ไหว้ผู้ที่มีคุณธรรมสมควรแก่การไหว้  ทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ไหว้เจริญด้วยพรทั้ง ๔ ประการ อันได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ด้วย

            ๙.อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนื้อนาบุญของโลก คือ พระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ทักษิณาที่บริจาคแก่พระสงฆ์ย่อมมีอานิสงส์มาก เปรียบเหมือนนามีดินดีและน้ำดำ พืชที่หว่านไปย่อมให้ผลไพบูลย์ จึงเป็นที่บำเพ็ญบุญของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

 

 

จากหนังสือ      ธรรมลีลา ฉบับที่ 54 พฤษภาคม 2548