งามอย่างแท้จริง

คนเราจะสวยสดงดงาม แต่เพียงสรีระร่างกายและเครื่องประดับนั้นยังไม่เพียงพอ

ต้องงดงามทางด้านจิตใจด้วย

คำกล่าวที่ว่า “ ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องโดยปราศจากข้อสงสัย ถ้าไม่เชื่อลองหลับตานึกภาพของไก่ที่ถูกถอนขนวิ่งโทง ๆ นอกจากจะดูไม่สวยงามแล้ว ยังดูน่าเกลียดพิลึก หรือดูแล้วกลายเป็นเรื่องน่าขบขันหรือน่าสังเวชทั้งนี้เพราะไก่นั้นมีขนเป็นอาภรณ์ปกปิดกายและป้องกันอากาศร้อนและหนาว

มนุษย์เราก็เหมือนไก่ คือต้องมีเสื้อผ้าอาภรณ์ประดับกายเพื่อความงดงาม และปกปิดอวัยวะที่ไม่ควรเปิดเผย อันเป็นที่ตั้งแห่งความละอาย และเสื้อผ้าอาภรณ์ที่นำมาตกต่างร่างกายนั้น ยังเป็นเครื่องป้องกันความร้อนและหนาวได้อย่างดี ทำให้คนเราประกอบกิจการให้ลุล่วงไปได้ โดยไม่ต้องกังวลกับอากาศร้อนหนาว และการสัมผัสยุง มด แมลง ทั้งหลายที่จะมารบกวน

ดังนั้น มนุษย์เราจึงแสวงหาเครื่องประดับตกแต่งกันอย่างสุดความสามารถ มีเสื้อผ้าแล้วยังไม่พอ ต้องมีเครื่องประดับอย่างอื่นเข้ามาเสริม เช่น สร้อยคอ ต่างหู เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีเครื่องบำรุงผิวให้ดูงดงามตามยุคตามสมัยแต่งแต้มสีสันกันจนกลายเป็นแฟชั่นยอดนิยม

ที่กล่าวมานี้เป็นการตกแต่งในทางร่างกายเท่านั้น แต่ไม่มีการตกต่างทางจิตใจ และเครื่องประดับตกแต่งจิตใจนั้นก็ไม่มีบริษัทห้างร้านใดผลิตออกมาขาย เพราะฉะนั้นก้อยากจะบอกว่า คนเราจะสวยสดงดงามแต่เพียงสรีระร่างกายและเครื่องประดับนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องงดงามทางด้านจิตใจด้วย การที่จิตใจจะงดงามนั้น ท่านกล่าวถึงธรรมะ ๒ ประการ ที่จะทำให้คนเรางดงามอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ

๑. ขันติ – ความอดทน

๒. โสรัจจะ – ความสงบเสงี่ยม

ขันติ เป็นธรรมที่มีกล่าวไว้ในที่หลายแห่ง ในโอวาทปาติโมกข์ ในมงคลสูตร แม้ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ หรือในบารมี ๑๐ ก็มีกล่าวเอาไว้ เพราะถือว่า เป็นธรรมสำคัญที่จะขาดไม่ได้ ใครจะปฏิบัติธรรมสูงเพียงใดก็ตามต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐาน และในชีวิตประจำวันยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนเราต้องสมาคม สังคมกับคนรอบข้าง ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี

ความอดทนจำแนกออกเป็น ๓ อย่างคือ

๑. อดทนต่อความยากลำบากในการทำงานหรือประกอบกิจการ ในการดำเนินชีวิต ที่ต้องอดทนต่อสู้กับดินฟ้าอากาศที่ร้อนและหนาว เป็นต้น จนนำพากิจการงานนั้น ๆ ให้ผ่านพ้นลุล่วงไปด้วยดี

๒. อดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทนต่อทุกขเวทนาไม่โอดโอยร้องครวญครางให้เป็นที่น่ารำคาญคนอื่น เช่นพยาบาลและหมอ หรือคนใกล้ชิด ที่ให้การดูแลรักษาทั้งไม่บ่นจู้จี้จุกจิกจนกลายเป็นคนเอาใจยาก ก็จะเป็นความงามที่ไม่ต้องอาศัยอาภรณ์ใด ๆ มาประดับ เป็นความงดงามของจิตอย่างแท้จริง

ในทางตรงข้าม ถ้าคนเราประดับตกต่างร่างกายสวยงามด้วยอาภรณ์อันมีค่า แต่เวลาป่วยไข้แล้วไม่อดทนต่อทุกขเวทนา ส่งเสียงโอดครวญให้เกิดความรำคาญแก่ผู้รักษาพยาบาล หรือผู้ใกล้ชิด เครื่องประดับตกต่างเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะทำให้คนคนนั้นน่ารักยินดีได้เลยเพราะความงดงามทางจิต คือความอดทนนั้นไม่มีอยู่ในจิต ซึ่งจะทำให้คนคนนั้นมีสภาพเหมือนเด็ก ๆ ที่ขาดการควบคุมตนเอง

๓. อดทนต่อความเจ็บใจ หรืออดทนต่อการกระทบกระทั่งทางจิตใจในการอยู่รวมกันในสังคมของคนส่วนใหญ่ย่อมมีอยู่บ้างที่จะต้องมีการกระทบกระทั่งทางกาย ทางวาจา เพราะคนในสังคมนั้น บางคนเป็นคนดี บางคนเป็นคนไม่ดี คนดีไม่จำเป็นต้องพูดถึง เพราะคนดีมีประโยชน์และทำในสิ่งที่ดีที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่คนไม่ดีนี่สิก่อปัญหาความเดือดร้อนไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับคนไม่ดี ต้องมีความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นตัวเราเองจะเป็นผู้ที่ทำอะไร ๆ ให้เสียมรรยาทในสังคม รวมทั้งความเป็นผู้มีชื่อเสียงไปในทางติดลบได้ง่าย ๆ

คนบางคนแต่งตัวดี ดูดีไปหมด แต่พอถูกคนกระแหนะกระแหนเท่านั้น ก็โกรธฉุนเฉียว อดกลั้นอารมณ์ไม่อยู่ แสดงอาการโกรธตอบทันที ชุดเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องประดับต่าง ๆ ไม่ช่วยให้เกิดความงามขึ้นมาเลย

ครูบางคนลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ ก็เพราะทนกิริยาท่าทางของเด็กนักเรียนที่แสดงออกต่อครูไม่ได้เพราะครูตั้งมาตรฐานตัวเองไว้ว่า เด็กทุกคนต้องเคารพครู แต่ครูมีความรู้สึกว่า เด็กไม่เคารพและมีท่าทีก้าวร้าว ท้าทาย ครูอาจทำอะไรรุนแรงแกนักเรียน จนกลายเป็นผู้ร้ายของนักเรียนไปได้ในชั่วพริบตา ความงดงามในความเป็นครู ในความเป็นผู้ให้ความรู้อบรมบ่มนิสัยที่ดีของเยาวชนก็จะหมดไป เครื่องหมายความเป็นครู จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ กลบความดีที่เกิดขึ้นช้า ๆ และสั่งสมเป็นเวลานาน แต่ความชั่วเกิดแผล็บเดียว ทำลายความดีไม่ให้เหลืออยู่เลย

อีกอย่างหนึ่ง ความอดทน ต้องแยกออกมาให้ชัดเจน ในการควบคุมตัวเอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งยั่วยุที่ไม่ดี คือ อดที่จะไม่โกรธตอบ หรืออดต่อการที่จะนำเข้ามาไว้ในใจ คือไม่นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้เห็นที่ไม่ดีเข้ามาไว้ในใจเรา แล้วก็ทน คือทนต่อการเจ็บใจ การเสียดแทงทางใจ ที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจเหล่านี้ หรือในบางครั้งเราพบเห็นสิ่งที่น่ายินดี น่ารักใคร่ แล้วเกิดอยากได้ เช่น เดินไปในห้างสรรพสินค้า พบของที่ถูกใจมากมายอยากได้ไปหมด ก็ต้องใช้ความอด คืออดใจไว้ไม่ให้สิ่งที่เราอยากได้เข้าอยู่ในใจเรา แล้วก็ทนที่จะต้องไม่มีสิ่งเหล่านั้นให้ได้ เราก็จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินออกไป เพราะพอเราพ้นออกมาจากห้างสรรพสินค้าไม่นานเท่าไหร่ เราก็อาจลืมความอยากได้ไปแล้ว ใช่หรือไม่ ?

ความอดทนต่อการกล่าวร้ายป้ายสี การด่าว่าจากบุคคลอื่นนั้น พระพุทธเจ้าทรงกระทำให้เป็นตัวอย่างมาแล้ว เรื่องของเรื่องมีว่า

พราหมณ์คนหนึ่งพบพระพุทธเจ้าทีไร แกก็จะด่าว่าพระพุทธเจ้าเสีย ๆ หาย ๆ อยู่ร่ำไป เพราะโกรธที่พระพุทธเจ้าบวชน้องชายแก เพราะแกเป็นพราหมณ์ ไม่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเห็นว่าพราหมณ์ด่าว่าอยู่เสมอ ไม่เลิกราเสียที ก็เลยตรัสถามว่า

“ พราหมณ์ ในเรือนของท่านนั้น มีแขกมาเยือนหรือไม่ ?”

พราหมณ์ก็ตอบว่า “ ในเรือนของข้าพเจ้านั้นมีแขกมาเยือนเสมอ ”

จึงตรัสถามต่อไปอีกว่า “ เมื่อมีแขกมาเยือน ท่านต้อนรับอย่างไร ”

พราหมณ์ก็ตอบว่า “ ข้าพเจ้าก็ต้อนรับด้วยอามิสสิ่งของเครื่องบริโภคตามสมควรแก่ฐานะของแขกผู้มาเยือน ”

พระองค์จึงตรัสว่า “ พราหมณ์ เมื่อแขกที่มาเยือนท่าน ไม่รับของต้อนรับจากท่าน สิ่งของเหล่านั้นจะตกเป็นของใคร ”

พราหมณ์ก็ตอบว่า “ ก็ตกเป็นของข้าพเจ้า ”

ดังนั้นจึงตรัสว่า “ พราหมณ์ การที่ท่านด่าเราทุกวัน ๆ เราไม่ได้รับเอาไว้ คำด่าเหล่านั้นจะตกเป็นของใครเล่า ?”

พราหมณ์เลยจำนนต่อพระดำรัส แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนาแต่นั้นมา

เพราะฉะนั้น การอดทนก็คือการไม่รับเอา หรือการที่ไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีนั้นมามีอำนาจอยู่เหนือใจตน อย่าไปรับเอา เมื่อเราไม่รับสิ่งนั้นก็จะกลับไปหาเจ้าของนั่นเอง ทำใจให้สบาย ๆ

การที่เรามีความอดทนอดกลั้นเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่พอที่จะทำให้เป็นคนมีความงามอย่างแท้จริงได้ ต้องมีธรรมะอื่นเข้ามาร่วมเติมต่อ ธรรมะที่คู่กับขันติ ก็คือ โสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม

ความสงบเสงี่ยมคือความที่มีจิตชื่นบาน ประณีต มีจิตที่ราบเรียบ ไม่ว่าจะเผชิญกับภาวะที่น่าพอใจรักใคร่หรือภาวะที่ไม่น่าพอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะไม่แสดงอาการให้ผิดแผกไปจากเดิม

คนเรารู้จักอดทนอดกลั้น ไม่โกรธต่อผู้อื่นก็จริง แต่ในความอดทนนั้นอาจจะมีสีหน้าที่บึ้งตึ้ง หรือสีหน้าที่แสดงความไม่พึงพอใจ ต่อเมื่อมีโสรัจจะ คือความแช่มชื่นเข้ามากำกับ ก็จะทำให้ผู้นั้นมีความอดทนที่งดงามปรากฏแก่ผู้พบเห็น เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้อื่น โสรัจจะจึงทำหน้าที่เสริมความอดทนให้งดงามเด่นชัดขึ้น

ขันติ ความอดทน และโสรัจจะ ความสงบเสงี่ยมนี้ เป็นธรรมคู่กัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะมีทั้งสองอย่างอยู่ร่วมกัน จึงเป็นธรรมที่จะทำให้บุคคลงดงามอย่างแท้จริง งามยิ่งกว่าอาภรณ์ทั้งปวงที่มีในท้องตลาด

บอกต่อ ๆ กันไปด้วยว่า ขันติและโสรัจจะนั้น ไม่มีใครทำขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง โรงงานก็อยู่ที่ใจท่านนั่นแหละ

 

จาก หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 50 มกราคม 2548

โดย ธมฺมจรถ