คนเจ็บไข้ ผู้โชคดี

โดย ธรรมรักษา

“ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา

ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ”

เราอาศัยอยู่ในโลก และโรคมันก็อาศัยอยู่ในตัวเรา มีคนในโลกนี้อีกมากมาย ที่เขาเป็นโรคมากกว่าเรา ร้ายแรงกว่าเรา ทรมานมากกว่าเราแถมยังไม่มีเงินรักษาอีกต่างหากท่านที่ยังสามารถหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านได้ก็ยังจัดว่าเป็น “ คนโชคดี ” อยู่ในแง่ที่ว่า ยังอาจจะรู้วิธีที่จะหาประโยชน์ อันเกิดจากความเจ็บไข้ได้บ้าง แทนที่จะนอนรอความตาย หรือปล่อยจิตใจให้มันฟุ้งซ่าน วิตกกังวลห่วงใยไปสารพัด จนจิตใจไม่มีความสงบเย็น

ถ้าเป็นดังนั้น แทนที่เราจะเป็นโรคทางกายอย่างเดียวเราก็ยังแถมพ่วงเอาโรคทางใจเข้าไปทับถมอีกด้วย แล้วใครล่ะจะเป็นคนทุกข์ ? ใครเป็นคนเดือนร้อน ? ก็ตัวเราเองนั่นแหละ รับเหมาเอาไว้หมดมิใช่หรือ ?

บางคนดูหน้าตาสะสวยดี อายุก็ยังไม่มากเป็นโรคปวดฟันจนนอนไม่หลับบ้างบ้างโรคในท้องบ้าง โรคอะไร ๆ บ้าง

ต่างกันแต่ว่ามันมีไม่ค่อยจะเหมือนกัน หรือเท่ากันเท่านั้นแหละทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลของกรรมเก่า และกรรมใหม่ เมื่อมีการให้ผลกรรม คือ เกิดการเจ็บไข้แล้ว มันก็จะได้ใช้กรรมให้หมดกันไปเสียตอนหนึ่งสบายใจว่าได้ใช้หนี้เก่าเขาไปเสียที จะได้หมดเวรหมดกรรมกันไป

ถ้าเรากลัวต่อผลกรรม หรือความเจ็บไข้ในปัจจุบันหรือในอนาคต ก็มีทางปฏิบัติ ๓ วิธี คือ

ก. จงอย่ามาเกิดอีก จงปฏิบัติธรรมให้จริงจังและถูกต้อง ภพชาติก็จะได้สั้นเข้า

ข. จงเลือกปฏิบัติด้วยปัญญา จงพิจารณาถึงสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่การกระทำ หรือฉลาดบริโภคโรคก็เกิดน้อย จงกินด้วยปัญญา อย่ากินด้วยตัณหา ปัญหามันก็จะไม่มี

ค. อย่าเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนด้วยกันหรือสัตว์ใหญ่เล็กก็ตาม จงงดเว้นให้เด็ดขาด ไม่ว่าทางตรง คือการทุบ ตี ทรมาน หรือทางอ้อมก็คือเอามากักขังให้เขาเสื่อมเสียอิสรภาพ

เคยเห็นมามากแล้ว คนที่ไม่ค่อยจะเจ็บไข้กะใครเขานั่นแหละ พอเป็นเข้าทีก็ปางตาย หรือตายไปแล้ว

มันบ่แน่หรอกนาย ! หมั่นท่องไว้บ่อย ๆ ใจมันย่อมจะสงบก็ย่อมจะเป็นสุขได้ แม้ว่าจะเจ็บไข้อยู่

จงเหลือบมองดูคนที่เขาเจ็บปวดมากกว่าเราบ้างเถิดแล้วใจของเราก็ย่อมจะสงบและพบสันติสุข

เมื่อถึงเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็มีเวลาเหลือเฟือ นี่ก็จัดว่า “ เป็นโชคดี

สัจธรรมที่ปรากฏเป็นของจริงอยู่เฉพาะหน้า คือความเจ็บปวดก็ตาม ความพิการก็ตาม ทั้งที่เกิดจากตนเอง และเกิดแก่ผู้อื่นก็ตามล้วนแต่เป็น “ ยอดกรรมฐาน ” ที่ควรแก่การน้อมนำเอามาพิจารณาเป็นอารมณ์ให้เกิดความสลดสังเวช จนเป็นเหตุให้จิตเบื่อหน่ายคลายถอน ความยึดถืออะไร ๆ ในโลกได้อย่างวิเศษสุด

ยิ่งถ้าได้กัลยาณมิตรที่มีปัญญา หรือมีประสบการณ์ในทางนี้มาช่วยชี้แนะให้ด้วย ก็จัดว่าเป็น “ มหาโชคลาภ ” อย่างยิ่ง

ขออย่าได้รีรอ “ โอกาสทอง ” จงถือโอกาสตักตวงเอาสาระให้เต็มที่ซึ่งในยามปกติท่านมักจะประมาท มัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่งเสีย ด้วยการทำดังนี้

๑. การรักษาทางร่างกาย จงทำไปตามปกติ ตามที่เห็นสมควรถ้าทำไม่ได้ก็จงปล่อยวางเสีย

๒. ในยามเจ็บไข้เช่นนี้ ให้ถือว่าเรื่องจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญสุดยอด อย่าให้โรคทางใจเข้าไปแทรกกับโรคทางร่างกายโดยเด็ดขาดเพราะนอกจากจะรักษายากแล้ว มันยังอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาอีกด้วย

๓. ขอให้แยกร่างกายออกเป็นคนละส่วนกับจิตใจ อย่าให้ปะปนกัน และจงแยกอีกชั้นหนึ่ง คือ แยกโรคที่เป็น ออกจากร่างกายเสียด้วย

ถ้าสามารถแยกได้ นอกจากโรคจะหายได้เร็วแล้วอาการเจ็บปวดก็จะลดน้อยลงด้วย หรือแม้ว่าจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย มันก็จะตายด้วยอาการอันสงบ ถ้าควบคุมจิตไว้ได้ด้วยสติ

๔. จงวางภาระทางกายและทางใจเสียให้สิ้น ให้คนอื่นเขารับไปทำแทนเถิด อย่าคิดว่า “ ฉันคนเดียวเท่านั้นทำได้ ” บางทีเขาอาจจะฉลาดกว่าเราเสียด้วยซ้ำ แต่เพราะเราไม่ได้มอบหมายให้เขาทำมาก่อน เขาจึงทำได้ไม่เหมือนเรา

จงห่วงตัวเองเถิดว่าตายแล้วมันจะไปนรกหรือสวรรค์ ? เราได้ทำที่พึ่ง (บุญนิธิ) อันเกษมไว้ในภพหน้าดีพอแล้วหรือยัง ?

ขอให้ปลงใจเสียเถิดว่า ทรัพย์สมบัติ พ่อ แม่ เมีย ผัว ลูก หลาน สัตว์เลี้ยง มิตรสหาย หรือสิ่งใด ๆ ในโลกมันก็ย่อมจะต้องอยู่ในโลกนี้

เมื่อเราตายไป มันก็ย่อมจะตกเป็นมรดกของคนรุ่นหลังหรือของแผ่นดิน คนมีปัญญาย่อมจะใช้จ่ายให้เกิดสาระได้ สิ่งที่เหมือนเงาตามตัวเราไปในชาติหน้านั้น มีแต่บุญกับบาปเท่านั้น สิ่งอื่นหามีติดไปได้ไม่

อย่าหวังเลยว่า เมื่อเราตายแล้วญาติที่อยู่ภายหลังเขาจะทำบุญส่งไปให้ คือ

เขาอาจจะลืมหรือไม่สนใจ หรือขี้เหนียวก็ตามเราก็ต้องทนอดแห้งอดแล้งต่อไป เพราะไม่ได้ทำเอาไว้เองก่อน

เอ้า , สมมุติว่าเขากตัญญูต่อเราทำบุญอุทิศให้เรา แต่เราไปเกิดในภพหรือภูมิที่รับไม่ได้ เช่นเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรืออยู่ในภพภูมิที่รับไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร

ดังนั้น การทำกับไม้กับมือของตนเอง ที่ยังเป็น ๆ อยู่จึงเจ๋งกว่าแน่ ๆ และเป็นของเราแท้ ๆ ไม่มีใครจะมาแย่งเอาไปได้เลย.

...ว่าแต่ว่าเรามาหาประโยชน์อันเกิดจากความเจ็บไข้กันจะมิดีกว่าหรือ ?

 

เฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยมาก

๑. สำรวมจิตให้เป็นสมาธิ ถ้าเคยทำสมาธิแบบไหนมาก่อนแล้วจิตมันสงบดี ก็จงทำวิธีนั้น ทำพอจิตสงบแล้ว ก็เอาสมาธิคือตัวสงบนั่นแหละ เพ่งไปที่ความเจ็บปวด ที่ปวดอยู่มาก ๆ นั่นแหละ ให้จิตมันแน่นิ่งอยู่กับจุดที่ปวดนั้น ๆ นึกในใจว่า “ ปวดหนอๆ ๆ ” ก็ได้ หรือ “ พุท..โธ ” ก็ได้

๒. สำรวมจิตให้เป็นสมาธิ เหมือนวิธีแรก แต่ไม่ต้องให้จิตแน่วแน่มากนัก เอาสมาธิเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นแหละ

พิจารณาให้เห็นว่า ความเจ็บปวด (ทุกขัง) นี่มันก็ไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเจ็บปวดนี้ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา (อนัตตา) และเราก็ไม่อาจที่จะบังคับมันได้

ขอให้พิจารณาทบทวนไป-มา วนเวียนอยู่อย่างนี้

๓. สำรวมจิตให้เป็นสมาธิ ตามแบบก่อนนั่นแหละแต่ไม่ต้องมากนัก เพ่งและพิจารณาโดยความเป็น “ จตุลักษณ์ ” คือ

ทุกข์แท้ แปรผัน เน่าเหม็น แตกดับ

ก็เอา “ ของจริง ” ที่เกิดขึ้นนั่นแหละ เป็นอารมณ์ของกรรมฐานไปเสียเลย

ถ้าเกิดว่าเดี๋ยวปวดมากเดี๋ยวปวดน้อย ก็เอาความแปรผันนั่นแหละเป็นอารมณ์กรรมฐานไปเลย

ถ้าเกิดว่า มีกลิ่นเน่าเหม็น อันเกิดจากบาดแผลนั้น ก็เอากลิ่นเหม็น (ปฏิกูล) นั่นแหละ เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน พิจารณาไปตามความเป็นจริง

ถ้าเกิดว่า มันจะตายจริง ๆ คือใจมันจะขาดแล้ว แต่ยังพอมีสติอยู่บ้าง ก็ให้เจริญมรณานุสติไปด้วย พอหัวใจจะหยุดเต้นจะหมดลมจริง ๆ ก็ให้ปล่อยวางความยึดถืออะไร ๆ ในโลกออกให้หมดทั้งสิ้น

ในช่วงนี้ ผู้พยาบาลอย่าได้เรียก อย่าได้จับตัวผู้ป่วยอย่าเพิ่งเคลื่อนย้ายรอให้เขาตายสนิทก่อน

ข้อควรคิด เมื่อผู้ป่วยใกล้จะตาย หรือแน่ใจว่าจะตายแน่แล้วขอให้ถอดสายยาง ที่ช่วยหายใจออกเสียเถิดผู้ป่วยจะได้อยู่ในภาวะปกติไม่ต้องทรมานเพราะสายยาง จะได้เจริญธรรมได้เต็มที่ เมื่อดับจิตไปในขณะนั้น ก็ย่อมจะไปสู่สุคติอย่างแน่นอน

เฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยน้อย

๑. อ่านหรือฟังธรรมะ เอาเทปธรรมะมาเปิดให้ฟังบ่อย ๆ ตามที่ผู้ป่วยจะพอฟังเข้าใจหรือชอบ ให้จิตใจเกิดความเพลินเพลินไปในทางธรรม ใจก็ย่อมจะสงบและสบาย โรคก็ย่อมจะหายเร็ว

๒. คิดแต่สิ่งที่ดี จงคิดแต่เรื่องดี ๆ นึกถึงความดีที่เคยทำไว้ก่อนทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ถ้าจะหางานอะไรเบา ๆ ทำได้ โดยไม่ขัดรับโรคก็ควรทำ เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในบางเวลา

๓. ปฏิบัติธรรม จะเป็นธรรมประเภทไหนก็ได้ เช่น เจริญสติ สมาธิ และวิปัสสนา เป็นต้น แต่สติและสมาธิจะมีความจำเป็นมาก

ขอให้เชื่อในคำสอนของพระพุทธศาสนาเถิดว่า เหตุที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลของอกุศลกรรมเก่าในอดีตตามมาให้ผล เราจึงควรแก้ด้วยการละลายอกุศลกรรมเก่า ด้วยการทำบุญประเภทต่าง ๆ จากบุญเบาไปหาบุญหนัก ดังนี้

ขั้นที่ ๑. ตักบาตร จงทำตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์แล้วอุทิศส่วนบุญกุศลนั้นเจาะจง ไปให้แก่เจ้ากรรมและนายเวรโดยเฉพาะเป็นครั้งคราว หรือทำทุกวันได้ก็ยิ่งดี แต่ว่าควรจะทำเป็นอันดับแรกก่อน

ขั้นที่ ๒. ถวายสังฆทาน เป็นบุญที่สูงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง จะต้องสละทั้งทรัพย์และเวลามากขึ้น

ขั้นที่ ๓. อภัยทาน ด้วยการปล่อยสัตว์ คือการให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน เป็นทานที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จะเป็น เต่า ปลา นก วัว ควาย .. เป็นต้น ที่เขากำลังจะนำเอาไปฆ่าได้ ก็ยิ่งจะได้บุญแรง

ขั้นที่ ๔. รักษาศีล มีการนุ่งขาว ห่มขาว กินเจได้ด้วยก็ยิ่งดีรักษาศีล ๕ ศีล ๘ และกุศลกรรมบถ ๑๐ ตามกำลังและความสามารถยิ่งทำมากก็ยิ่งดี

ขั้นที่ ๕. เจริญธรรม เช่น เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญอสุภะ เจริญมรณสติ เจริญวิปัสสนา เจริญกายคตาสติ เป็นต้น

ขอจงพิจารณาดูว่า สิ่งใดเหมาะสะดวกแก่ตน และอยู่ในความสามารถจะทำได้ ก็ควรทำสิ่งนั้นก่อน แล้วก็พยายามเลื่อนทำให้สูงขึ้นไป

อุทิศเจาะจงไปให้เจ้ากรรมและนายเวรในอดีต เพื่อขอให้ท่านได้รับส่วนบุญ และจงให้อโหสิกรรมแก่เราด้วย

มีคนเจ็บไข้ได้หายจากโรคร้ายเพราะได้บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เหล่านี้แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงกล่าวไว้ว่า โรคบางอย่างก็รักษาหาย โรคบางอย่างก็รักษาไม่หาย จะหายก็ต่อเมื่อเราได้ตายไป และเมื่อเราตายไปจริง ๆ เราก็ย่อมจะมีความอุ่นใจ เพราะทำที่พึ่งไว้ในชาติหน้าอย่างดีแล้ว