สิกขา สิกขาบท ลาสิกขา

ทั้ง ๓ คำนี้ คือ “ สิกขา สิกขาบท ลาสิกขา ” ชาวบ้านโดยทั่วไปมักจะรู้จักรู้ความหมาย และคุ้นเคยอยู่เพียงคำเดียวคือ “ ลาสิกขา ” เพราะพูดกันบ่อยเวลาที่พระจะสึก และบ่อยครั้งมีที่ผู้ใช้คำสับสนปนแปไปว่า “ ลาสิกขาบท ” ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยไม่รู้ความหมายอันแท้จริงของคำแต่ละคำนั่นเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ค้นคว้าความหมายของคำเหล่านี้มาบอกเล่าไว้อีกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

โดยใน “ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ” โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) และหนังสือ “ พูดจาภาษาวัด ” โดยกรมการศาสนา ปี ๒๕๔๔ ได้อธิบายความหมายของคำเหล่านี้ไว้ว่า

สิกขา หมายถึง การศึกษา , การสำเหนียก , ข้อที่จะต้องศึกษา , ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรม มี ๓ อย่างคือ

๑. อธิศีลสิกขา ได้แก่ การศึกษาในอธิศีล , ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง , การฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา ใจ คือ ระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูล ไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย เป็นพื้นฐานแห่งการฝึกอบรมจิตใจในอธิจิตตสิกขา

๒. อธิจิตตสิกขา ได้แก่ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิต เพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง , การฝึกฝนอบรมจิตใจให้เข้มแข็ง มั่นคง มีคุณธรรม เช่น ขันติ เมตตา กรุณา สดชื่น เบิกบาน เป็นสุข ผ่องใส เหมาะแก่การใช้ความคิดพิจารณา เป็นฐานแห่งการเจริญปัญญา

๓. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง จนจิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระปราศจากกิเลสและความทุกข์

สิกขาทั้ง ๓ นี้ รวมเรียกว่า “ ไตรสิกขา ” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ ศีล สมาธิ ปัญญา ”

ส่วน สิกขาบท หมายถึง ข้อศีล , ข้อวินัย บทบัญญัติข้อหนึ่ง ๆ ในพระวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ , ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล๓๑๑ แต่ละข้อ ๆ เรียกว่าสิกขาบท เพราะเป็นข้อที่จะต้องศึกษา หรือเป็นบทฝึกฝนอบรมตนของสาธุชน อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุ และภิกษุณี ตามลำดับ

สำหรับคำว่า ลาสิกขา หมายถึง การสึก หรือลาออกจากความเป็นภิกษุ สามเณร โดยการกล่าวปฏิญญาตนเป็นผู้อื่น ต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน หรือต่อหน้าบุคคลอื่นว่า ขอลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์

ดังนั้นการสึกจากพระ ซึ่งมักจะมีผู้ใช้ว่า “ ลาสิกขาบท ” เป็นการใช้ไม่ถูกต้องเพราะที่ถูกต้องนั้น จะต้องใช้คำว่า “ ลาสิกขา ”

นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตันตปิฎกที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต คัทรภสูตร พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงภิกษุผู้ไร้ไตรสิกขาว่าดุจดัลาที่ติดตามฝูงโค ความว่า

“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาติดตามไปเบื้องหลังฝูงโค มันร้องว่า แม้เราก็เป็นโค แต่สีเสียงและรอยเท้าของมันหาเหมือนของโคไม่ มันเป็นแต่เดินตามหลังฝูงโคร้องว่าแม้เราก็เป็นโค ๆ ดังนี้เท่านั้น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุ ๆ แต่ความพอใจในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของเรา หาเหมือนของภิกษุทั้งหลายไม่ เขาเป็นแต่ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุ ๆ ดังนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นแหละภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แลฯ ”

 

หนังสือ ธรรมลีลา ฉบับที่ 56 ปีที่ 5 กรกฎาคม 2548

โดย มุทิตา