เพียรรักษาความดี

ครั้งที่แล้วได้อธิบายธรรมที่เรียกว่า “ ภาวนาปธาน ” เพียรทำความดีให้เกิดมีขึ้นในใจของตนแล้ววันนี้จะแสดงธรรมเรื่อง “ อนุรักขนาปธาน ต่อไป

อนุรักขนาปธาน คือการรักษาความดีที่เกิดมีขึ้นในตนไว้ไม่ให้เสื่อมสูญไป อุปมาเหมือนปิดกั้นสระใหญ่ไม่ให้น้ำไหลออกจากสระนั้น พอฝนตกมามันก็จะเก็บน้ำไว้ให้เต็มเปี่ยม ผู้สร้างคุณงามความดีคือสร้างกุศลทั้งปวงนั้น เรียกว่าสะสมคุณงามความดี มีน้อยก็เก็บไว้ มีมากก็เก็บไว้ เหมือนฝนที่ตกลงมา ไม่ว่าห่าใหญ่ห่าน้อย ตกลงมากแล้วไม่รั่วไหลไปไหน มีแต่จะมากขึ้น

การที่จะรักษาคุณงามความดีของตนไว้ได้ จะต้องเห็นคุณค่าของคุณงามความดีที่เราสร้างนั้นก่อน เห็นเป็นของมีค่ามีประโยชน์ยิ่ง เมื่อได้มาแล้วก็ยินดีพอใจในการที่ได้กุศลนั้น เช่น เรายังไม่เคยเข้าวัดฟังธรรม ไม่เคยทำบุญทำทาน และไม่เคยรู้จักรสชาติของสัจธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต่อมาเมื่อเราเข้าวัดจิตใจเบิกบาน แช่มชื่นปลอดโปร่ง เพราะได้เห็นได้ฟังแต่สิ่งที่ดีที่งาม วัดเป็นที่บำเพ็ญกุศล เป ็นที่อบรมจิตใจ เป็นที่ระงับดับเสียซึ่งความเดือดร้อนวุ่นวาย เป็นสถานที่ที่สงบ เมื่อเข้าไปถึงวัดเห็นคุณค่าประโยชน์อย่างนี้ เราก็พยายามที่จะรักษาคุณงามความดีไว้ คือหมั่นเข้าวัด บางคนถึงจะไม่หมั่นก็ช่างเถิด แต่พอได้รับความเดือดร้อน จนใจเป็นทุกข์ จะต้องดิ่งเข้าวัด พอก้าวย่างเข้าไปในเขตวัดเท่านั้น ยังไม่ทันทำอะไรเลย จิตใจจะสงบเยือกเย็น ถ้าได้ไปคบค้าสมาคมกับพระสงฆ์ผู้มีศีลมีธรรมคุณงามความดีของท่านเหนือจากเรา เราเห็นแล้วก็อดที่จะละอายความชั่วของเราไม่ได้ หรือหากเข้าไปหาท่านผู้รู้ผู้ฉลาดครูบาอาจารย์ผู้มีความสามารถ ท่านแนะนำให้เราเข้าใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ความเดือดร้อนกังวลทั้งหลายจะหายไปอย่างเด็ดขาด ถ้าเห็นคุณค่าประโยชน์เช่นนี้ เรียกว่าคุณงามความดีได้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว

เมื่อเราทำกุศลแล้ว เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ พอใจ ยินดีปีติ เราจะรักษาคุณงามความดี คือรักษาวัตรปฏิปทาของการทำดีนั้น เช่น เช้าตื่นขึ้นมาทำบุญตักบาตร หรือก่อนจะหลับจะนอนก็ไหว้พระสวดมนต์ ตื่นขึ้นกลางคืนดึกดื่นสงบสงัดก็ทำความสงบอบรมสมาธิภาวนา พิจารณาสังขารร่างกายหรือจวนจะสว่างก่อนไปทำการทำงานไหว้พระสวดมนต์ ทำความสงบอบรมสมาธิภาวนา จิตใจของเราก็มีความสงบ ได้รับความเยือกเย็น หากผู้ใดทำจนเห็นคุณค่าประโยชน์อย่างนี้แล้วผู้นั้นจะต้องรักษากิจวัตรอันนั้นไว้ประจำในใจของตนเรียกว่า “ อนุรักขนา ” เพียรพยายามรักษาความดีไม่ได้เสื่อม เหตุนั้นท่านจึงสอนให้รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักผิด รู้จักถูก ให้มันหายจากโมหะคือความหลง อวิชชาคือความไม่รู้ และเห็นความจริงขึ้นมาว่า ดีเป็นของดีจริง ชั่วเป็นของชั่วจริง ที่ชั่วก็ละเสีย ที่ดีก็รักษาไว้จริง ๆ

ธรรมดาทุกคนไม่ว่าใครถ้าไม่เห็นชัดด้วยตนเอง ไม่เห็นคุณค่าประโยชน์ในสมบัติที่ตนได้ เหมือนไก่เห็นพลอยเหมือนลิงได้แก้ว ไก่เห็นพลอยมันจะมีประโยชน์อะไรแก่ไก่ เพราะนำไปใช้อะไรไม่ได้ ไม่รู้จักคุณค่าของพลอยนั้น ลิงเห็นแก้วก็เหมือนกัน ลิงจะไปประดับที่ตัวมันตรงไหนกัน ก็ไม่มีคุณค่าประโยชน์อะไร คนเราถ้าหากมีของดีคือบุญกุศลคุณงามความดีที่เราบำเพ็ญอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว ก็ไม่รู้จักจะรักษา เมื่อไม่รู้จักจะรักษาก็หายไปเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย เปรียบเหมือนเราทำสวนหรือไร่นา เมื่อถากถางและขุดไถให้เรียบร้อยแล้วจึงปลูกพืชลงไปนั้น แล้วจำเป็นจะต้องรักษาโดยทำรั้วกั้น ป้องกันไม่ให้สัตว์เข้าไปกินไปเหยียบย่ำจึงจะได้รับผล มิใช่ว่าปลูกแล้วทอดทิ้ง ถ้าปลูกแล้วทอดทิ้งไม่มีหวังได้กินเลย เราสร้างคุณงามความดีมาแต่ไหนแต่ไรก็เพราะต้องการคุณงามความดีบุญกุศลเวลาได้ขึ้นมาจริง ๆ แล้วกลับไม่รู้จักของดีนั้น ทิ้งขว้างไม่รู้จักของมีค่า จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีการรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่อย่าให้เสื่อมหายไป

คนที่ทำทานแล้วทอดทิ้งปล่อยวาง โดยคิดว่าตนทำทาน แล้วก็แล้วไปหมดเรื่อง แบบนี้ก็ได้ผลอยู่แต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากหมั่นพิจารณาถึงการทำทาน การสละจาคะของตน ฝึกคิดจนเป็นอนุสสติ เรียกว่า จาคานุสสติเห็นประโยชน์ในการทำทาน การสละนั้นจริง ๆ แล้ว จะได้ประโยชน์มากมาย จิตใจจะเบิกบานอิ่มเอิบปลื้มปีติอยู่ตลอดเวลา จะมากน้อยเท่าใดเห็นได้ที่ใจของตน แม้กาลเวลาล่วงไปแล้วเมื่อมาระลึกถึงเรื่องเหล่านั้น จิตใจก็จะแช่มชื่นยินดีด้วยการทานนี่ก็เป็น “ อนุรักขนา ” เหมือนกัน เมื่อผู้รับได้ประโยชน์จากทานนั้น เราจึงจะได้รับสุข เป็นอานิสงส์จากไทยทานของตน เช่นให้ข้าว น้ำ หรืออาหารไป จากทานนั้นเขาก็จะได้มีชีวิตยืนยาวสืบไป มีสุขภาพดี หรือเรามีผ้าผ่อน ผ้านุ่งผ้าห่ม ให้ทานเขาไป เขาจะได้หุ้มห่อร่างกาย ปกปิดไม่ให้เกิดความละอายเพื่อกันแดดกันฝน กันร้อนกันหนาว เราเห็นคุณประโยชน์เพียงแค่นี้ก็จะเกิดปลื้มปีติขึ้นในใจว่าเราได้ช่วยคนมีทุกข์ให้พ้นทุกข์ได้ชั่วระยะหนึ่ง เราให้ทานความสุขแก่คนอื่นให้ทานชีวิตแก่เขา

เมื่อเราได้ทำคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้น มากน้อยก็ตาม มีเท่าไรเราสะสมไว้ ของเล็กของน้อยนาน ๆ เข้ามันค่อยเพิ่มขึ้น ผู้พิจารณาเห็นประโยชน์แล้วรักษาจริยาวัตรคือประพฤติคุณงามความดีนั้นไว้ให้ติดต่อสืบเนื่องกันไปเรียกว่า “ อนุรักขนาปธาน ” ถ้าหากว่านำเอาคุณความดีที่ตนได้ปฏิบัติมาพิจารณากำหนดสติ ก็จะได้ความปีติอิ่มใจ จิตสงบเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง

บุญกุศลจากการทำทานนั้น ก่อนหน้าที่จะลงมือทำทานได้เกิดคิดนึกที่จะทำทานก่อน จึงแสวงหาปัจจัยไทยทานต่าง ๆ เวลานั้นก็เกิดความปลื้มปีติแล้วจึงเป็นบุญมาตั้งแต่ต้น ขณะที่ทำทานอยู่นั้นถ้าทำแก่ผู้มีศีล เช่น ภิกษุ สามเณร เป็นต้น จิตใจเบิกบานอิ่มอยู่ตลอดเวลาก็เป็นบุญเป็นกุศล หลังจากนั้นเสร็จธุระแล้ว ก็ยังมีความอิ่มเอิบเบิกบานในการที่ได้ทำทานอยู่อีก เป็นการได้กุศลทั้ง ๓ สมัยอย่างเต็มที่ คือ ก่อนทำทาน ขณะทำ และหลังจากได้ทำแล้ว ทำมากหรือน้อยก็อิ่มอกอิ่มใจ ทำน้อยกลับกลายได้ผลมากกว่าคนที่ทำบุญมาก ๆ แล้วไม่รักษา ไม่ได้พยายามรักษา

คนที่เคยสร้างความดีนั้นรู้สึกเป็นของง่ายแต่แท้ที่จริงไม่ใช่ของง่าย คนที่ไม่เคยสร้างความดียิ่งมองไม่เห็น แม้คนที่เคยสร้างความดีแล้วก็ตาม ถ้าไม่รักษาไว้ให้ดี เมื่อสูญเสียไปแล้วจะทำใหม่ก็ไม่ใช่ของง่าย เช่น คนดื่มสุราพยายามละสุรา พยายามยากแสนยาก ร้อยทั้งร้อยเกือบจะไม่ได้ หากว่าละได้แล้ว ถ้าไม่ตามระวังรักษาความดีนั้นไว้ ไปคบค้าสมาคมกับเพื่อนนักดื่มกลับติดสุราอีก ทีนี้ยิ่งร้ายกว่าเก่า หากคบค้าเพื่อนฝูงอันธพาลยิ่งไปใหญ่โต

ความดีนั้นเป็นของสร้างได้ยาก ความชั่วสร้างได้ง่ายที่สุด ทำเมื่อไรก็ได้ ความชั่วนั้นมีผลให้ได้รับความทุกข์ ผลของความดีเท่านั้นนำให้เกิดความสุข คนไม่ต้องการทุกข์ต้องการความสุข แต่ไม่อยากสร้างความดี คนเราเป็นอย่างนี้ อยากได้แต่ผล ต้นเหตุไม่สร้าง ถ้าหากรู้จักว่า ผลของความสุขเกิดจากเหตุที่สร้างความดี เราก็มาสร้างความดีผลคือความสุขมันเกิดขึ้นเอง เราอยากได้แต่ความสุข แต่เราไม่สร้างความดีให้เกิด ไปกินเหล้าเมาสุรา เกกมะเหรกใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประมาณ ขี้เกียจขี้คร้าน แล้วจะได้ความสุขมาจากไหน เรารู้จักแต่ “ อบายมุข ” ที่แปลว่า ทางเสื่อม ทางให้ถึงความฉิบหาย ให้ถึงความล่มจม ให้ถึงความชั่วนั่นเอง มันเป็นของน่ากลัว แต่เราพากันทำชั่วทั้งหมดโดยไม่รู้จักกลัวกัน กลับชอบอบายมุขด้วยซ้ำ ส่วนอุบายที่ทำให้เกิดความเจริญไม่เอา แต่ว่าชอบความเจริญ

เมื่อเข้าใจตามนี้และเห็นชัดด้วยตนเอง มั่นใจด้วยตนเองด้วย ละความชั่วได้ง่ายที่สุด ไม่ต้องมีใครบังคับเลย ความดีก็เหมือนกัน บุญกุศลก็เหมือนกัน ถ้าหากเราเห็นอำนาจอานิสงส์ของการสร้างความดีว่านำให้เกิดความสุขจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนากัมมัฏฐานทำแล้วจิตใจเบิกบานสงบเยือกเย็น เห็นประโยชน์อย่างชัดเจนด้วยตนเองแล้ว มันขยันทำความเพียรอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ตนเห็นด้วยตนเองนั้น ไม่ว่าอะไรทั้งหมดมันเป็นของสบาย ไม่ต้องมีใครบังคับ แต่ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตนเองแล้วบังคับมันยากเหลือเกิน คิดดูตามภาษาคำพูดก็แล้วกัน “ บัง และ “ คับ ” นี่มันบังไว้ไม่ให้เห็น มันคับจริง ๆ มันไม่ใช่การตักเตือนว่ากล่าวแนะนำเสียแล้ว มันเป็นเรื่องบีบคั้นหัวใจของผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้กลับเป็นทุกข์จากการบังคับ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วความสุขจะมาจากไหนแต่การเห็นด้วยตนเองไม่ต้องบังคับ ทำด้วยความเต็มใจแล้วจิตใจจะเบิกบาน

การรักษาศีลก็เหมือนกัน เมื่อเห็นด้วยปัญญาของตนว่าศีลเป็นของดีมีค่า ระลึกถึงศีลแล้วจิตใจจะเบิกบานเปรียบเหมือนเวลาที่หิว จะนึกถึงอาหารที่เคยรับประทานเคยชอบ พอนึกแล้วจิตใจมันเบิกบาน นำลายมันฟูออกมาแล้ว รสชาติมันเอร็ดอร่อยขึ้นมาแล้ว

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเราเข้าใจหลักในการสร้างคุณงามความดีให้มันเจริญให้มีขึ้นมา ถ้าสิ่งที่ตนต้องการและปรารถนามากที่สุดคือความดีและผลคือความสุขแล้วก็ต้องมีอนุรักขนาปธาน การรักษาคุณงามความดีที่เกิดขึ้นแล้วในตนของตน เพียรให้เกิดมีอยู่เสมอ

 

จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 5 ฉบับที่ 58 กันยายน 2548

โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย