มุตโตทัย

โอวาทของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

บันทึกโดย

พระราชธรรมเจติยาจารย์(พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล

๑. การปฏิบัติเป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมของพระตถาคต เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมเป็นของปลอมทั้งสิ้น (สัทธรรมปฏิรูป) แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร้ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วยเพราะฉะนั้นเมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติธรรมถ่ายเดียวจึงยังใช้การไม่ได้ดี คืออุปกิเลสนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย

 

๒. ฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า

ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ

สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทรมานฝึกหัดพระองค์จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็น “ พุทโธ ” ผู้รู้ก่อน แล้วจึงเป็น “ ภควา ” ผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ สตฺถา จึงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ฝึกบุรุษผุ้มีอุปนิสัย บารมีควรแก่การทรมานในภายหลัง จึงทรงพระคุณปรากฏว่า กลฺยาโณ กิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคโต – ชื่อเสียงเกียรติศัพท์อันดีงามของพระองค์ย่อมฟุ้งเฟื่องไปในจาตุรทิศจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าท่านฝึกทรมานตนได้ดีแล้ว จึงช่วยพระบรมศาสดาจำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชนในภายหลัง ท่านจึงมีเกียรติคุณปรากฏเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้วและทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษปรากฏว่า ปาปโก สทฺโท โหติ คือ เป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปทั่วจาตุรทิศ เพราะโทษที่ไม่ทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าในกาลก่อนทั้งหลาย

 

๓. มูลมรดกอันเป็นต้นทุนทำการฝึกฝนตน

เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใด ๆ ก็ดี จึงต้องตั้งนโมก่อน จะทิ้งนโมไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้นโมก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญจะยกขึ้นพิจารณา ได้ความปรากฏว่า น คือธาตุน้ำ โม คือธาตุดิน พร้อมกับบทพระคาถาขึ้นมาว่า มาตาเปติก สมฺภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย – สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว ก็ได้รับข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นเครื่องเลี้ยง จึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้ น เป็นธาตุของมารดา โมเป็นธาตุของบิดา ฉะนั้นเมื่อธาตุทั้ง ๒ นี้ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือน้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เองปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ปฏิสนธิในธาตุนโมนั้น เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละก็จะค่อยเจริญขึ้นเป็นอัมพุชะคือ เป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆนะ คือเป็นแท่ง และเปสิคือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา๒ หัว๑ ส่วนธาตุ พ คือลม ธ คือไฟ นั้น เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือเมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือนโมเป็นดั้งเดิม ในกาลต่อมาเมื่อ คลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย น มารดา โม บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา ด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า ปุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อนใคร ๆ ทั้งสิ้น มารดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับประมาณมิได้ มรดกที่ท่านทำให้ กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิม ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งนี้เป็น “ มูลมรดก ” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านทั้งสองจะนับประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่ เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ขึ้นตั้งขึ้นก่อน แล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ภายหลัง นโมท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุนทำการฝึกหัดปฏิบัติตน ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

 

๔. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ

นโม เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้คือ เอาสระอะจากตัว น มาใส่ตัว ม เอาสระโอจากตัว ม มาใส่ตัว น แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่า ใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ทั้งกายและใจเต็มตามสมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้มโนคือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำอะไรจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ในพระพุทธพจน์ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโนมยา – ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจคือมหาฐานนี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนรู้จักมโนแจ่มแจ้งแล้ว มโนก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมบัติทั้งหลายในโลกจึงต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ถือเอาเป็นสมบัติบัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะ จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าตัวเป็นเรา เป็นของเราไปหมด

 

 

๕. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ

พระอภิธรรม ๖ คัมภีร์เว้นมหาปัฏฐาน มีนัยประมาณเท่านั้น เท่านี้ส่วนคัมภีร์มหาปัฏฐาน มีนัยหาประมาณมิได้ เป็น “ อนันตนัย ” เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะรู้รอบได้ เมื่อพิจารณาพระบาลีที่ว่าเหตุปจฺจโย นั้นได้ความว่า เหตุซึ่งเป็นปัจจัยดั้งเดิมของสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุนั้นได้แก่มโนนั่นเอง มโนเป็นตัวมหาเหตุเป็นตัวเดิม เป็นสิ่งสำคัญ นอกนั้นเป็นแต่อาการเท่านั้น อารมฺมณ จนถึง อวิคฺคต จะเป็นปัจจัยได้ก็เพราะมหาเหตุคือใจเป็นเดิมโดยแท้ ฉะนั้นมโนซึ่งกล่าวไว้ในข้อ๔ ก็ดี ฐีติภูตํ ซึ่งจะกล่าวในข้อ ๖ ก็ดี และ มหาเหตุ ซึ่งกล่าวในข้อนี้ก็ดี ย่อมมีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ดี รู้อะไร ๆ ได้ด้วยทศพลญาณก็ดี รอบรู้สรรพเญยยธรรมทั้งปวงก็ดี ก็เพราะมี มหาเหตุ เป็นดั้งเดิมทีเดียว จึงทรงรอบรู้ได้เป็นอนันตนัย แม้สาวกทั้งหลายก็มีมหาเหตุนี้แลเป็นเดิม จึงสามารถรู้ตามคำสอนของพระองค์ได้ ด้วยเหตุนี้แลพระอัสสชิเถระผู้เป็นที่ ๕ ของพระปัญจวัคคีย์ จึงแสดงธรรมแก่ อุปติสสะ (พระสารีบุตร) ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจโย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ ความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุฯ เพราะว่ามหาเหตุนี้เป็นตัวสำคัญเป็นตัวเดิม เมื่อท่านพระอัสสชิเถระกล่าวถึงที่นี้ (คือมหาเหตุ) ท่านพระสารีบุตรจะไม่หยั่งจิตลงถึงกระแสธรรมอย่างไรเล่า ? เพราะอะไรทุกสิ่งในโลก ก็ต้องเป็นไปแต่มหาเหตุ ถึงโลกุตตรธรรม ก็คือมหาเหตุ ฉะนั้นมหาปัฏฐานท่านจึงว่าเป็นอนันตนัย ผู้มาปฏิบัติใจคือตัวมหาเหตุจนแจ่มกระจ่างสว่างโร่แล้ว ย่อมสามารถรู้อะไร ๆ ทั้งภายในและภายนอกทุกสิ่งทุกประการ สุดจะนับประมาณได้ด้วยประการฉะนี้

 

๖. มูลการของสังสารวัฏฏ์

ฐีติภูตํ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโวชาติ – คนเราทุกรูปทุกนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญติปัจจยาการแต่เพียง อวิชชาปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไร ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่พวกเราก็ยังมีบิดา มารดา อวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระตถาคตเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเอง เป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่จิตดั้งเดิมเมื่อฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อกล่าวคืออาการของอวิชชาขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขาร พร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านจึงเรียกปัจจยาการเพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจาก ฐีติภูตํ เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อ ฐีติภูตํ กอบด้วยอวิชชา จึงไม่รู้เท่าอาการทั้งหลาย แต่เมื่อ ฐีติภูตํ กอบด้วยวิชชา จึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วย วุฏฐานคามินีวิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า “ มูลต้นไตร ” เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏฏ์ให้สูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชา รู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะหายหลงแล้ว ไม่ก่อการทั้งหลายใด ๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้

 

๗. อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคผลนิพพาน

อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺตวิสุทธิยา – ฐานะอันเลิศมีอยู่ในมนุษย์ ฐานะอันดีเลิศนั้นเป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ โดยอธิบายว่า เราได้รับมรดกมาแล้วจาก นโม คือบิดามารดา กล่าวคือ เรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดี คือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ และมโนสมบัติบริบูรณ์จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอกคือทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างเอาสมบัติภายในคือมรรคผลนิพพานธรรมวิเศษก็ได้ พุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติแก่ช้างม้าโคควาย ฯลฯ ที่ไหนเลย มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติซึ่งความบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนาน้อยเพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้ว ทำให้ยิ่งได้ สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดกว่า ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ เมื่อได้ทำกองกุศล คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดาเจ้าแล้ว บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์ บางพวกแสนขยันทำจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีแต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์เดรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้ จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดี สามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล

 

๘. ชัยภูมิอันเป็นสนามฝึกคน

พระบรมศาสดาเจ้า ทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน ? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่า พระองค์ทรงตั้งมหาสมบัติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ

อุปมาทางโลก การรบทัพชิงชัย มุ่งหมายชัยชนะ จำต้องหาชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อมสามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้นสามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่าชัยภูมิ คือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคงฉันใด อุปไมยในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอามหาสมบัติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ ก็โดยผู้ที่จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือกิเลส ต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น ก่อน เพราะคนเราที่จะเกิดกามราคะเป็นต้น ขึ้น ก็เกิดที่กายและใจ เพราะตาแลไปเห็นกายที่ทำให้จิตใจกำเริบ เหตุนั้นจึงได้ความว่า กายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณาที่กายนี้ก่อนจะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ ทำใจให้สงบได้ ณ ที่นี้พึงทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียวในเมื่ออุคคหนิมิติปรากฏ จะปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะคิดว่าที่นี่เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่ ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกายออกมาเป็นส่วน ๆ ทุก ๆ อาการอันเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ได้ อย่างละเอียด ที่เรียกว่าปฏิภาคก็ตาม ก็ต้องพิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคคหนิมิตนั้นจนชำนาญ ที่ชำนาญได้ก็ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั่นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่าไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสียไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใดการพิจารณากายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคคหนิมิตในที่ใดแล้วไม่พิจารณาในที่นั้นให้มาก ปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาท ก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน

การพิจารณากายนี่มีที่อ้างมาก ดังในการบวชทุกวันนี้ เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก็คือ กายนี้เองก่อนอื่นหมด เพราะเป็นของสำคัญ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทขุททกนิกายว่า อาจารย์ผู้ไม่ฉลาดไม่บอกซึ่งการพิจารณากาย อาจทำลายอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน๕ ก่อน อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าจะไม่กำหนดกาย ในส่วนโกฏฐาสใดโกฏฐาสหนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พหิทฺธา แผ่นดินภายนอก ให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายใน กล่าวคือ อัตตภาพร่างกายนี้ ให้พิจารณาไตร่ตรองให้แยบคายกระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการวิสัชนาปัญหานี้ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็บรรลุพระอรหัตตผล เหตุนั้นการพิจารณากายนี้จึงต้องเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกข์ทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้ ทีแรกก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร ? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาเป็นต้น จึงเชื่อว่า “ ชัยภูมิ ” เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือ ปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลาย ด้วยอุบายวิปัสสนาซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

๙. อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส

ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี มีอุปมาดั่งปทุมชาติอันสวย ๆ งาม ๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรกปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้น เมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่สะอาดเป็นที่ทัดทรงของพระราชา อำมาตย์ อุปราช และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นมิได้กลับไปยังโคลนตมนั้นเลย ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่งสิ่งสกปรกน่าเกลียด จิตจึงพ้นจากสิ่งสกปรกน่าเกลียดได้ สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั่นคือตัวเรานี้เอง ร่างกายนี้เป็นที่ประชุม แห่งของโสโครก คือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตรคูถ) ทั้งปวง สิ่งที่ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่าขี้ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขี้เล็บ ขี้ฟัน เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงลงสู่อาหารมีแกงกับเป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้งกินไม่ได้และร่างกายนี้ต้องชำระขัดสีอยู่เสมอ จึงพอเป็นของดูได้ ถ้าหาไม่ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาบใครเข้าใกล้ก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่าง ๆ เมื่ออยู่ภายนอกกายของเรา ก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็กลายเป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆ เข้าไม่ซักฟอก ก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ ดั่งนี้จึงได้ความว่า ร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งามปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ เมื่อหาชีวิตไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย จึงมาพิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญด้วยโยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจน ก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแห่งจริต จนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคหนิมิต คือปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก การเจริญทำให้มากนั้นพึงทราบอย่างนี้ ชาวนาเขาทำนา เขาก็ทำที่แผ่นดิน ไถที่แผ่นดิน ดำลงไปในขี้ดิน ปีต่อไปเขาก็ทำที่ขี้ดินนั้นเอง เขาไม่ได้ทำกลางอากาศกลางหาว คงทำแต่ที่ดินแห่งเดียว ข้าวเขาก็ได้เต็มยุ้งเต็มฉางเอง เมื่อทำให้มากในที่ดินนั้นแล้วไม่ต้องร้องเรียกว่าข้าวเอ๋ยข้าว จงมาเต็มยุ้งเน้อ ข้าวก็จะหลั่งไหลมาเองและจะห้ามว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงอย่ามาเต็มยุ้งเต็มฉางเราเน้อ ถ้าทำนาในที่ดินนั้นเองจนสำเร็จแล้วข้าวก็มาเต็มยุ้งเต็มฉางโดยไม่ต้องสงสัยฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเจ้าก็ฉันนั้น คงพิจารณากายในที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัย หรือที่ปรากฏให้เห็นครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติพิจารณาในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็ให้มีสติรอบคอบในกาลอยู่เสมอ จึงจะชื่อว่าทำให้มาก เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้วให้พิจารณาแบ่งส่วนแยกส่วนออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการของตน กระจายออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และพิจารณาให้เห็นไปตามนั้นจริง ๆ อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั้นเทียว พระโยคาวจรเจ้าเมื่อพิจารณาในที่นี้พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือนตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวหน้าเข้าไปถอยออกมาเป็นอนุโลมปฏิโลม คือเข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมาพิจารณากาย อย่าพิจารณาอย่างเดียว หรือสงบที่จิตอย่างเดียว เพระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว คราวนี้แลเป็นส่วนที่จะเป็นเอง คือจิตย่อมจะรวมใหญ่ เมื่อรวมพับลง ย่อมปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกัน คือหมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น นิมิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่าป่าไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์ แม้ที่สุดตัวของเราก็ต้องล้มราบเป็นที่สุดอย่างเดียวกัน พร้อมกับญาณสัมปยุตต์ คือรู้ขึ้นมาพร้อมกันในที่นี้ ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย จึงถือว่ายถาภูตญาณทัสสนะวิปัสสนาคือ ทั้งเห็นทั้งรู้ ตามความเป็นจริง ขั้นนี้เป็นเบื้องต้นในอันที่จะดำเนินต่อไปไม่ใช่ที่สุด อันพระโยคาวจรเจ้าจะพึงเจริญให้มาก ทำให้มาก จึงจะเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งอีกจนรอบ จนชำนาญ เห็นแจ้งชัดว่าสังขารความปรุงแต่งอันเป็นความสมมติว่า โน่นเป็นของเรา โน้นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยง อาศัยอุปาทาน ความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แลธาตุทั้งหลายเขาหากมีหากเป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไปอยู่อย่างนี้มาก่อนเราเกิด ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก็เป็นอยู่อย่างนี้ อาศัยอาการของจิตของขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปปรุงแต่ง สำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ ไม่ใช่สมมติมาติดเอาเรา เพราะธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้ จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เมื่อว่าตามความจริงแล้ว เขาหากมีหากเป็น เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว โดยไม่ต้องสงสัยเลย จึงรู้ขึ้นว่า ปุพฺเพสุ อนนุสฺเตสุ ธมฺเมสุ ธรรมดาเหล่านี้หากมีมาแต่ก่อน ถึงว่าจะไม่ได้ยินได้ฟังมาจากใครก็มีอย่างนั้นทีเดียว ฉะนั้นความข้อนี้พระพุทธจ้าจึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใครเลย เพราะของเหล่านี้มีอยู่ มีมาแต่ก่อนพระองค์ดังนี้ได้ความว่า ธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็น ย่อมมีอยู่อย่างนั้น อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้เป็นไปตามสมมตินั้น เป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติด้วยอาการจิตเข้าไปยึด ฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้า จึงพิจารณาโดยแยบคายลงไปตามสภาพว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกขา สังขารความเข้าไปปรุงแต่ง คือ อาการของจิตนั้นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยงคือมีอยู่อย่างนั้นให้พิจารณาโดยอริยสัจจ์ทั้งสี่ เป็นเครื่องแก้อาการในจิตให้เห็นแน่แท้โดยปัจจขสิทธิว่า ตัวอาการของจิตนี้เอง มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงหลงตามสังขาร เมื่อเห็นจริงลงไปแล้วก็เป็นเครื่องแก้อาการของจิต จึงปรากฏขึ้นว่า สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายที่เที่ยงแท้ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิตต่างหาก เปรียบเหมือนพยับแดด ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อรู้โดยเงื่อน ๒ ประการคือ รู้ว่าสัตว์ก็มีอยู่อย่างนั้น สังขารก็เป็นอาการของจิต เข้าไปสมมติเขาเท่านั้น ฐิติภูตํ จิตตั้งอยู่เดิมไม่มี อาการเป็นผู้หลุดพ้นได้ ความว่า ธรรมดา หรือธรรมดาทั้งหลายไม่ใช่ตน จะใช่ตนอย่างไร ของเขาหากเกิดมีอย่างนั้น ท่านจึงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ให้พระโยคาวจรเจ้าพึงพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้ จนทำให้รวมพับลงไปให้เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น โดยปัจจขสิทธิพร้อมกับญาณสัมปยุตต์ปรากฏขึ้นมาพร้อมกัน จึงชื่อว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา ทำให้ที่นี้จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์พร้อมกับการรวมใหญ่ และญาณสัมปยุตต์ รวมทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุติหรือรวมลงฐีติจิตอันเป็นอยู่มีอยู่อย่างนั้นจนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วยญาณสัมปยุตต์ว่า ขีณา ชาติ ญานํ โหติ ดังนี้ ในที่นี้ไม่ใช่เอาสมมติ ไม่ใช่ของแต่งเอาเดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของที่เกิดเองเป็นเองรู้เองโดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติอันเข้มแข็งไม่ท้อถอย พิจารณาโดยแยบคายด้วยตนเอง จึงจะเป็นขึ้นมาเอง ท่านเปรียบเทียบเหมือนต้นไม้ต่าง ๆ มีต้นข้าวเป็นต้น เมื่อบำรุงรักษาต้นมันให้ดีแล้ว ผลคือรวงข้าวไม่ใช่สิ่งอันบุคคลพึงปรารถนาเอาเลยเป็นขึ้นมาเอง ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว แต่หาได้รักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้านจะปรารถนาจนวันตาย รวงข้าวนั้นก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด วิมุตติธรรมก็ฉันนั้นนั่นแล มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูกหรือไม่ปฏิบัติ มัวเกียจคร้านจนตัวตาย จะประสพวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

 

๑๐. จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส

ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เลื่อมประภัสสรแจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองเป็นอาคันตุกะสัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อจึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า “ ไม้สะงกหกพันง่า (กิ่ง) กระปอมก่าขึ้นมื้อฮ้อย กระปอมน้อยขึ้นพันครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อ ๆ ” โดยอธิบายว่า คำว่าไม้สะงก ๖,๐๐๐ ง่านั้น เมื่อตัดศูนย์ ๓ ศูนย์ออกเสียงเหลือแต่ ๖ คงได้ความว่าทวารทั้ง๖ เป็นที่มาแห่งกระปอมก่า คือของปลอม ไม่ใช่ของจริงกิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสัญจรที่เข้ามาในทวารทั้ง ๖ นับร้อยนับพัน มิใช่เท่านั้น กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดมีขึ้นก็จะทวียิ่ง ๆ ขึ้นทุก ๆวัน ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้

ธรรมชาติของจิต เป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคือ อุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุมจึงทำให้หมดรัศมีดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบัง ฉะนั้น อย่าพึงเข้าใจว่าพระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก ฉะนั้นผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายเมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงจำกัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย ตามที่อธิบายแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาข้อ ๙ นั้นเถิด เมื่อทำจิตให้ถึงขั้นฐีติจิตแล้ว ชื่อว่าย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้น หรือว่าของปลอมย่อมเข้าไปไม่ถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัวฉะนั้น

 

๑๑. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย

นายสารถีผู้ฝึกม้ามีชื่อเสียงคนหนึ่ง มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงวิธีทรมานเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อนถึงการทรมานม้า เขาทูลว่า ม้ามี ๔ ชนิด คือ ๑ ทรมานง่าย ๒ ทรมานอย่างกลาง ๓ ทรมานยากแท้ ๔ ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย พระองค์จึงตรัสว่า เราก็เหมือนกัน ๑ ผู้ทรมานง่าย คือผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่าย ก็ให้กินอาหารเพียงพอเพื่อบำรุงร่างกาย ๒ ทรมานอย่างกลาง คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ค่อยจะลงก็ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก ๓ ทรมานยากแท้คือผู้ปฏิบัติจิตลงยากแท้ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็น อตฺตญฺญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้เพียงไร แค่ไหน ๔ ทรมานไม่ได้เลยต้องฆ่าเสีย คือผู้ปฏิบัติจิตไม่ได้เป็นปรมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสียกล่าวคือไม่ทรงสั่งสอน อุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น

 

 

 

๑๒. มูลติกสูตร

ติก แปลว่า ๓ มูล แปลว่า เค้ามูล รวมความว่า สิ่งซึ่งเป็นรากเหง้าเค้ามูลอย่างละ ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็สามเรียกว่า อกุศลมูล ตัณหาก็มีสาม คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โอฆะและอาสวะก็มีอย่างละสาม คือกามะ ภวะ อวิชชา ถ้าบุคคลมาเป็นไปกับด้วยสามเช่นนี้ ติปริวตฺตํ ก็ต้องเวียนไปเป็น ๓ ๓ ก็ต้องเป็นโลก ๓ คือกามโลก รูปโลก อรูปโลก อยู่อย่างนั้นแล เพราะ ๓ นั้น เป็นเค้ามูลโลก ๓ เครื่องแก้ก็มี ๓ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อบุคคลดำเนินตามศีลสมาธิ ปัญญาอันเป็นเครื่องแก้ น ติปริวตฺตํ ก็ไม่ต้องเวียนไปเป็น ๓ ๓ ก็ไม่เป็นโลก ๓ ชื่อว่าพ้นจากโลก ๓ แล

 

 

 

๑๓. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้

อกุปฺป สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นพหิทธาธรรมทั้งที่เป็นอัชฌัตติกาธรรม สนฺโต จึงเป็นผู้สงบระงับ สันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด มีใจมั่นคง เป็นสัตบุรุษรู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร อุปัตติเทวา เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณวุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสัตนบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึง วิสุทธิเทวา คือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วย หิริโอตตัปปะและสุกกธรรม คือความบริสุทธิ์แท้จริง

 

๑๔. อกิริยาเป็นที่สุดโลก – สุดสมมติบัญญัติ

สจฺจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา สัจจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยา เพราะแต่ละสัจจะ ๆ ย่อมมีอาการต้องทำ คือ ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ สมุทัย ต้องละ นิโรธ ต้องทำให้แจ้ง มรรค ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่ต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำก็ต้องเป็นกิริยา เพราะเหตุนั้นจึงรวมความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นกิริยา จึงสมทบคาถาข้างต้นนั้นความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นตีนหรือเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป ๔ พัก จึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อกิริยา อุปมาดังเขียนเลย ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แล้วลบ ๑-๙ ทิ้งเสียเหลือแต่ ๐ (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไปคงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่จะปฏิเสธว่า ไม่มีหาได้ไม่เพราะปรากฏอยู่ว่า ๐ (ศูนย์) นี่แหละคือปัญญารู้รอบ เพราะทำลายกิริยาคือความสมมติ หรือว่าลบสมมติเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่า ลบ คือทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ มีปัญหา สอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหนแก้ว่าไปอยู่ในที่ไม่สมมติคืออกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นคำอธิบายตามอาการของความจริงซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเอง นั้นแหละจึงจะเข้าใจได้

ความแห่ง ๒ บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวะเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจาณาและบำเพ็ญเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนสติมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลาย ทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอกิริยา ก็ย่อมพ้นโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น ท่านขีณาสวะ เจ้าทั้งหลายมิได้ เหาะขึ้นไปในกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียวคงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียว เมื่อจะดับโลกสามก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลกสาม คงดับอยู่ที่จิต ที่จิตนั้นเองเป็นโลกสาม ฉะนั้นผู้ต้องการดับโลกสามแล้ว พึงดับที่จิตของตน จึงทำลายกิริยา คือตัวสมมติหมดสิ้นจากจิต ยังเหลือแต่กิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรม อันไม่รู้จักความตายฉะนั้นแล

 

๑๕. สัตตาวาส ๙ คือ

เทวาพิภพ มนุสสโลก อบายโลกจัดเป็นกามโลกที่อยู่อาศัยของสัตว์เสพกามรวมเป็น ๑ รูปโลกที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผู้สำเร็จรูปญาณมี ๔ อรูปโลกที่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จอรูปญาณมี ๔ รวมทั้งสิ้นเป็น ๙ กล่าวคือ พระขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย ย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ ไม่อยู่ในที่ ๙ แห่งนี้แล ปรากฏในสามเณรปัญหาข้อสุดท้าย ทส นาม กึ อะไร ชื่อว่า ๑๐ แก้ว่า ทสหงฺเคหิ สมนฺนาคโต พระขีณาสวะเจ้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ย่อมพ้นจากสัตตาวาส ๙ ความข้อนี้คงเปรียบได้กับการเขียนตัวเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ นั่นเอง ๑ ถึง ๙ เป็นจำนวนนับได้อ่านได้บวกลบคูณหารได้ ส่วนสิบก็คือ เลข ๑ กับ ๐ (ศูนย์) เมื่อลบเลข ๑ ออกเสีย เพราะซ้ำกัน ก็เหลือแต่ ๐ (ศูนย์) เราจะเอา ๐ (ศูนย์) ไปบวกลบคูณหารกับเลขใด ๆ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้นและ ๐ (ศูนย์) นี้เมื่ออยู่โดยลำพังก็ไม่มีค่าอะไร แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้เพราะเป็นสิ่งปรากฏอยู่ความเปรียบนี้ฉันใด จิตใจก็ฉันนั้นเป็นธรรมชาติ มีลักษณะเหมือน ๐ (ศูนย์) เมื่อนำไปต่อเข้ากับเลขใด ย่อมทำให้เลขนั้น มีค่าขึ้นอีกมาก เช่นเลข ๑ เมื่อเอาศูนย์ต่อเข้าก็กลายเป็น ๑๐ สิบ จิตใจนี้ก็เหมือนกันเมื่อต่อเข้ากับสิ่งทั้งหลายก็กลายเป็นของวิจิตรพิสดารมากมายขึ้นทันที แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมจนฉลาดรอบรู้สรรพเญยยธรรมแล้วย่อมกับคืนสู่สภาพ ๐ (ศูนย์) คือ ว่างโปร่ง พ้นจาการนับการอ่านแล้ว มิได้อยู่ในที่ ๙ แห่งอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ แต่อยู่ในที่หมดสมมติบัญญัติ คือ สภาพ ๐ (ศูนย์) หรืออกิริยา ดังกล่าวในข้อ ๑๔ นั่นเอง

 

 

 

๑๖. ความสำคัญของปฐมเทศ มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา

พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ๓ กาลมี ความสำคัญยิ่ง อันพุทธบริษัทควรสนใจพิจารณาเป็นพิเศษ คือ

ก. ปฐมโพธิกาล ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นครั้งแรก ปฐมเทศนาเรียกว่าธรรมจักรเบื้องต้น ส่วนสุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นแสดงว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือกามสุขัลลิกา และอัตตกิลมถา เป็นส่วนแห่งความชัง ทั้ง ๒ ส่วนนี้เป็นส่วนสมุทัย เมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งส่วนทั้ง ๒ นี้ชื่อว่ายังไม่เข้าทางกลาง เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิ จิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจ ครั้นเมื่อจิตนึกคิดให้ฟุ้งซ่านรำคาญ ก็เสียใจ ความดีใจนั้นแล คือกามสุขัลลิกา ความเสียใจนั้นแลคืออัตตกิลมถา ความดีใจเป็นราคะ ความเสียใจก็เป็นโทสะ ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ ทั้ง ๒ นี้เป็นโมหะ ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกก็ต้องกระทบส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน ๒ นั้นอยู่ ชื่อว่าผิดอยู่ แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียวต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน แม้พระอัครสาวกทั้ง ๒ ก็ซ้ำเป็นมิจทิฏฐิมาก่อนแล้วทั้งสิ้น แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่น ๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้นต่อเมื่อพระองค์มานำทางกลางจิตใจอยู่ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์ ได้ญาณ ๒ ใน ๒ ยาม เบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ ๓ กล่าวคืออาสวักขยญาณในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลางอันแท้จริง ทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิดกล่าวคือส่วนที่ ๒ นั้น พ้นจาก สมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยโคตร อริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ อริยประเพณี ส่วนอริยสาวก ทั้งหลายนั้นเล่าก็มารู้ตามพระองค์ ทำให้ถูกอาสวักขยญาณพ้นความผิดตามพระองค์ไป ส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรก ๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าแล้วทำให้ถูก เมื่อยังดีใจเสียใจในการบำเพ็ญอยู่ก็ตกอยู่ในโลกธรรมเมื่อตกอยู่ในโลกธรรม จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะความดีใจเสียใจ นั่นแหละชื่อว่าความหวั่นไหวไปมา อุปฺปนฺโน โข เม โลกธรรม จะเกิดที่ไหน เกิดที่เรา โลกธรรมมี ๘ ฉะนั้นพระองค์จึงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา แก้ส่วน ๒ เมื่อแก้ส่วน ๒ ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรคตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็น จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (สละสลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน ๒ ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง เมื่อมีผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง ๒ แล้วก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลีเกษมจากโอฆะ จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมาก พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไร เพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้ โลกธาตุก็มิใช่อะไรอื่น คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหวเพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นจากส่วน ๒ ธาตุของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะจะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกเลย

ข. มัชฌิมโพธิกาล ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในชุมนุมพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ณ พระราชอุทยานเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ พึงเป็นผู้ทำจิตใจให้ยิ่ง การที่จะทำจิตให้ดียิ่งได้ต้องเป็นผู้สงบระงับ อิจฺฉาโลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ เมื่อประกอบด้วยความอยากดิ้นรนโลภหลงอยู่แล้วจักเป็นผู้สงบระงับได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ คือปฏิบัติพระวินัยเป็นเบื้องต้น และเจริญกรรมฐานตั้งต้น การจงกรม นั่งสมาธิ ทำให้มาก เจริญให้มาก ในการพิจารณามหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาติปัฏฐานเป็น เบื้องแรก พึงพิจารณาส่วนแห่งร่างกายโดยอาการแห่งบริกรรมสวนะ คือพิจารณาโดยอาการคาดคะเนว่าส่วนนั้นเป็นอย่างนั้น ด้วยการมีสติสัมปชัญญะไปเสียก่อน เพราะเมื่อพิจารณาเช่นนี้ ใจไม่ห่างจากกาย ทำให้รวมง่าย เมื่อทำให้มากในบริกรรมสวนะแล้ว จักเกิดขึ้นซึ่งอุคคหนิมิตให้ชำนาญที่นั้นจนเป็นปฏิภาคชำนาญในปฏิภาคโดยยิ่งแล้วจักเป็นวิปัสสนา เจริญวิปัสสนาจนเป็นวิปัสสนาอย่างอุกฤษฎ์ ทำจิตเข้าถึง ฐีติภูตํ ดังกล่าวแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนา ชื่อว่า ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว โมกฺขํ จึงจะข้ามพ้น เพราะอาศัยข้อปฏิบัติอันตนทำเต็มที่แล้วจึงข้ามพ้น คือพ้นจากโลกชื่อว่าโลกุตตรธรรม เขมํ จึงเกษมจาก โยคะ (เครื่องร้อน) ฉะนั้น เนื้อความในมัชฌิมเทศนาจึงสำคัญ เพราะเล็งถึงวิมุตติธรรม ด้วยประการฉะนี้แล

ค. ปัจฉิมโพธิกาล ทรงแสดงปัจฉิมเทศนาในที่ชุมนุมพระอริยสาวก ณ พระราชอุทยานสาลวัน ของมัลลกษัตริย์กรุงกุสินารา ในเวลาจวนจะปรินิพพานว่า หนฺททานิ อามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ปฏิเวทยา มิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เราบอกท่านทั้งหลายว่าจงเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาสังขารที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาเช่นนั้นจักเป็นผู้แทงตลอด พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ก็ปิดพระโอษฐ์ มิได้ตรัสอะไรต่ออีกเลย จึงเรียกว่า ปัจฉิมเทศนา อธิบายความต่อไปว่า สังขารมันเกิดขึ้นที่ไหนมันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นสังขาร สังขารมันเกิดขึ้นที่จิตของเราเอง เป็นอาการของจิต พาให้เกิดขึ้นซึ่งสิ่งสมมติทั้งหลาย สังขารนี้แล เป็นตัวการสมมติบัญญัติทั้งหลายในโลกความจริงของในโลกทั้งหลาย หรือธรรมธาตุทั้งหลายเขาเป็นอยู่อย่างนั้น แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ฟ้า แดด เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไรเลย ตลอดจนตัวตนมนุษย์ก็เป็นธาตุของโลกเขาไม่ได้ว่าเป็นนั้นเป็นนี้เลย เจ้าสังขารตัวการนี้ เข้าไปปรุงแต่งว่าเขาเป็นนี้เป็นจนหลงกันว่าเป็นจริง ถือเอาว่าเป็นเรา เป็นของเราเสียสิ้น จึงมีราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ทำจิตตัวเดิมให้หลงไปตามเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอเนกภพ อเนกชาติ เพราะจ้าตัวสังขารนั้นแลเป็นเหตุ จึงทรงสอนให้พิจารณาสังขารว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา ให้เป็นปรีชาญาณชัดเจน เกิดจากผลแห่งการเจริญปฏิภาคในส่วนเบื้องต้น จนทำจิตให้เข้าภวังค์ เมื่อกระแสแห่งภวังค์หายไป มีญาณเกิดขึ้นว่า “ นั้นเป็นอย่างนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ” เกิดขึ้นในจิตจริง ๆ จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์ ก็รู้เท่าสังขารได้ สังขารก็จะมาปรุงแต่งจิตให้กำเริบไม่ได้อีก ได้ในคาถาว่า อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เฌยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต เมื่อสังขารปรุงแต่งจิตไม่ได้แล้วก็ไม่กำเริบ รู้เท่าธรรมทั้งปวง สนฺโต ก็เป็นผู้สงบระงับถึงซึ่งวิมุตติธรรม ด้วยประการฉะนี้

ปัจฉิมเทศนานี้เป็นคำสำคัญแท้ ทำให้ผู้พิจารณารู้แจ้งถึงที่สุดพระองค์จึงได้ปิดโอษฐ์แต่เพียงนี้ พระธรรมเทศนาใน ๓ กาลนี้ ย่อมมีความสำคัญเหนือความสำคัญในทุก ๆ กาล ปฐมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม มัชฌิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม ปัจฉิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม รวมทั้ง ๓ กาล ล้วนแต่เล็งถึงวิมุตติธรรมทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้

 

๑๗. พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ

อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ ทิฏเฐว ธมฺเม สยํ อภิญญา สจฺฉิกตฺวา อุปสมฺปชช วิหรติ พระบาลีนี้แสดงว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใด ย่อมบรรลุวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน หาได้แบ่งแยกไว้ว่า ประเภทนั้นบรรลุแต่เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติไม่ ที่เกจิอาจารย์แต่งอธิบายไว้ว่า เจโตวิมุตติเป็นของพระอรหันต์ผู้ได้สมาธิก่อน ส่วนปัญญาวิมุตติเป็นของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ๆ นั้น ย่อมขัดแย้งต่อมรรค มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ มีทั้งสัมมาทิฏฐิ ทั้งสัมมาสมาธิ ผู้จะบรรลุวิมุตติธรรม จำต้องบำเพ็ญมรรค ๘ บริบูรณ์ มิฉะนั้นก็บรรลุวิมุตติธรรมไม่ได้ ไตรสิกขาก็มีทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันผู้จะได้อาสวักขยญาณ จำต้องบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ทั้ง ๓ ส่วน ฉะนั้นจึงว่าพระอรหันต์ทุกประเภทต้องบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ ด้วยประการฉะนี้แลฯ