ถั่วในมือลิง

กับวิถีทางคิดเพื่อชีวิตอยู่รอด

พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสว่า จิตใจของคนเรานั้นเหมือนกับลิง เราจึงเรียนรู้เรื่องจิตใจของเราได้มากมายจากพฤติกรรมของลิง เพราะลิงนั้นแสนเกลียดกะปิ ถ้ากะปิถูกมือมันเมื่อใด มันจะถูนิ้วกับพื้นจนเลือดไหลเต็มมือจนกว่ากลิ่นจะหายไปในที่สุดจนกลายเป็นว่า “ กะปิ ” ถึงจะร้ายเพียงใดก็ไม่ร้ายเท่า “ ความเกลียดของลิงที่มีต่อกะปิ ” ที่มือของลิงเป็นแผลเหวอะหวะนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะกะปิ หากแต่เป็นเพราะความจงเกลียดของลิงที่มีต่อกะปิต่างหาก สิ่งที่เกลียดนั้น บ่อยครั้งไม่น่ากลัวเท่ากับความเกลียดชังในจิตใจเรา ความเกลียดชัง หรือพูดให้ถูกก็คือ ความรู้สึกอยากผลักไส ซึ่งรวมทั้งความโกรธและความกลัว แต่นั่นเป็นครึ่งหนึ่งของความจริงเท่านั้น นอกจากความอยากผลักไสแล้วความยึดติดก็เป็นอีกหนึ่งที่เราต้องระวังไม่แพ้กัน

ในประเทศอินเดีย ลิงถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้าน เพราะชอบขโมยผลไม้ในสวนชาวบ้านจึงได้คิดวิธีจับลิง โดยใช้กล่องไม้ซึ่งมีฝาด้านหนึ่งเจาะเป็นรูเล็ก ๆ พอให้ลิงสอดมือเข้าไปได้ในกล่องจะมีถั่วซึ่งเป็นของโปรดของลิงวางไว้เป็นเหยื่อล่อ วันดีคืนดี ลิงมาที่สวนเห็นถั่วอยู่ในกล่องก็เอามือล้วงเข้าไปหวังหยิบถั่วในกล่อง แต่พอถอนมือออกมาก็ติดฝากล่อง เพราะกำมือของลิงนั้นใหญ่กว่าฝากล่องที่เจาะไว้ ลิงพยายามดึงมือเท่าไรก็ไม่ออก พอชาวบ้านมาจับ ก็ปีนหนีขึ้นต้นไม้ ไม่ได้ เพราะมีมือเปล่าอยู่เพียงข้างเดียว ท้ายที่สุดก็ถูกจับได้ ลิงหาได้เฉียวใจว่า เพียงแค่มันคลายมือออกเท่านั้น ก็จะเอาตัวรอดได้ แต่เพราะความยึดถั่วไว้แน่นไม่ยอมปล่อย จึงต้องเอาชีวิตเข้าแลกซึ่งอาจจะเปรียบเทียบแล้วพบว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่เราใฝ่ฝันอยากได้ จนถึงกับยึดไว้อย่างเหนียวแน่น เวลาที่เราประสบปัญหา เพียงแค่เราคลายสิ่งที่ยึดติดนั้นเสียบ้าง เพราะบ่อยครั้งการปล่อยวางไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเท่านั้น หากแต่เป็นทางออกจากปัญหาเลยทีเดียว แต่เป็นเพราะเราไม่ยอมปล่อย จึงเกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย .. ไม่คุ้มกับสิ่งที่ยึดติดไว้เลย

เราต้องการมีชีวิตต่อไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าต้องการยึดติดกับสิ่งที่ต้องการ หรือเพื่อเอาชีวิตให้อยู่รอดก่อน ... แต่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปบนโลกนี้หลายคนยังคงยึดติดกับปัญหาอยู่เรื่อยไปหาทางออกไปเจอ จนอาจทำให้ชีวิตของเราต้องพบจุดจบที่ไม่แตกต่างไปจากลิงหวงถั่วเท่าใดเลย ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะปล่อยหรือกำมันไว้เท่านั่นเอง