ปรัชญาชีวิตและการรู้แจ้ง โดย อ.ไชย ณ พล

อันว่าด้วยกายและจิต

ช้างเดินช้าเพราะตัวมันใหญ่ งูเลื้อยไปเพราะหลังมันยาว เต่าต้วมเตี้ยมเพราะเกราะป้องกันตัวมันหนัก นกน้อยโผผินไปได้ในนภาเพราะกระดูกกลวงกลาง

ใจเป็นอย่างไร อำนาจขับดันสู่การกระทำก็จะเป็นอย่างนั้น การกระทำเป็นอย่างไร ลักษณะกายก็จะเป็นอย่างนั้น กายเป็นอย่างไร บุคลิกในพฤติกรรมก็จะสอดคล้องกับกายนั้น เหตุที่เป็นดังนี้ก็เพราะ กายนั้นแลทำให้เกิดจิตปรุงแต่ง ก็จิตปรุงแต่งนั้นแหละทำให้เกิดกาย สองสิ่งนี้เกื้อหนุนกันอยู่ เสมือนต้นพฤกษชาติให้กำเนิดเมล็ด ก็เมล็ดนั่นแลให้กำเนิดพฤกษชาติ หมุนวนอยู่เป็นวัฏฏะ

ต่อเมื่อตัดความผูกพันในกายสังขารลงได้ จิตจึงปรุงแต่งน้อยลง และในที่สุดก็ต้องทิ้งแม้ตัวจิตสังขารที่จิตปรุงแต่งตัวเอง เมื่อนั้นจึงเข้าสู่ความผ่องแผ้วอันไพบูลย์

 

 

การขจัดรากเหง้าของความกลัว

ความไม่รู้ทำให้มนุษย์กลัว เสมือนบุคคลกลัวความมืดเพราะไม่รู้ว่าในความมืดนั้นมีอะไร หรือประหนึ่งบุคคลกลัวอนาคตด้วยไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร และเมื่อวิเคราะห์ให้ลึกแล้วจะพบว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนกลัวตัวเอง

ด้วยไม่รู้จักตน จึงกลัวตัวเอง ดั่งกลัวว่า ฉันจะอด ฉันจะลำบาก ฉันจะไม่สบาย ฉันจะถูกทอดทิ้ง ฉันจะไม่เป็นที่รัก ฉันจะถูกพราก ฉันจะตาย กลัว ฉันกลัว กลัวว่าฉัน..ฉันกลัว ด้วยไม่รู้จักตัว จึงกลัวตัวเอง

การจะขจัดความกลัวได้นั้น ต้องศึกษาตนให้แจ้งว่า ในความเป็นจริงแท้ของใคร ๆ คือไม่มีใครเป็นอะไรแท้จริง

เมื่อใด ใครรู้ว่าตนไม่เป็นตน เมื่อนั้น เขาย่อมเข้าใจตนโดยแทงตลอด

เมื่อรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมชาติธาตุแท้ของสิ่งต่าง ๆ แล้วความกลัวก็หายไป เหลือแต่ความหาญกล้าในความแจ่มใสที่มั่นคงไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ด้วยบุคลิกภาพอันเด็ดเดี่ยว

เด็ดเดี่ยว คือเด็ดแล้วเหลือเดี่ยว ๆ ไม่มีสิ่งใดพัวพันใจให้พะรุงพะรัง

 

 

พญาเหยี่ยวย่อมบินเดี่ยวเสมอ

ผู้ที่สมบูรณ์ในตนแล้ว ย่อมไม่ครอบครองสิ่งใด เขาจึงไม่มีสิ่งใดต้องสูญเสีย ไม่มีสิ่งใดที่จากเขา หรือเขาจากไป

การครอบครองเสมือนกาว เมื่อแตะก็ย่อมติด เมื่อติดก็ไปไหนไม่ได้ จิตใจถูกพันธนา ผูกพัน เกิดห่วง หวง เมื่อหวงก็ระแวง เมื่อระแวง ก็กังวล เมื่อกังวล ก็ร้อนรุ่ม ความทุกข์ทรมานก็เข้ามาย่ำยี ให้จิตใจสะบักสะบอม จนกว่าได้ปล่อยวาง

จำไว้ว่า สิ่งใดใด ไม่ใช่ของใครหมด ไม่ปรากฏว่าใครเป็นเจ้าของ แม้เฝ้ารักเฝ้าหวงเฝ้าห่วงปอง ก็จำต้องทิ้งไว้ในโลกา

แม้หินอันแข็งแกร่งยังมีวันผันแปร กระไรเลยกับใจของมนุษย์อันอ่อนไหว ย่อมแปรปรวนอยู่ทุกขณะลมหายใจ คนฉลาดจึงไม่หวังสิ่งใดจากใครในโลกนี้ ด้วยดวงใจอันเสรีเท่านั้นที่จักพ้นทุกข์ได้ ตราบใดที่ใจเรายังต้องพึ่งพิงเขาอยู่ ตราบนั้นทุกข์เป็นอันหวังได้ ตราบใดที่ใจเราไม่ต้องพึ่งพิงใคร ตราบนั้นสุขเป็นอันหวังได้ ดวงใจแห่งอิสรภาพเท่านั้นที่จะได้สัมผัสรสสุขอันแท้จริง และอิสรภาพแท้จริง ย่อมไม่ติดแม้เสรีภาพในการเป็นอิสระนั้น ประหนึ่งการเสวยความสุข ความสุขที่แท้จริง ย่อมไม่ติดแม้ในสิ่งที่ทำให้เป็นสุขนั้น

 

 

วิธีขจัดความเหงา

เมื่อบุคคลขาดความเชื่อมั่นในตน ด้วยใจไม่อยู่กับตัว ความเหงาก็จะเกิดขึ้น เมื่อใจแล่นไป ไม่พบสิ่งที่ปรารถนาก็เหงา พบแต่สิ่งไม่ปรารถนาก็เหงา บุคคลที่ใจมั่นอยู่ในตนดีแล้ว แม้อยู่โดดเดี่ยวก็ไม่เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย ด้วยใจมั่นอยู่ เต็มอยู่ จึงไม่มีช่องว่างให้ความเหงาเกิดขึ้นได้ สำหรับบุคคลที่ใจไม่อยู่กับตัว แม้อยู่คนเดียวก็เหงาได้ อยู่กับคนมาก ๆ ก็เหงาได้

ปัญญาชนจึงหมั่นทำใจตนให้เต็มด้วยการแผ่เมตตา เพื่อขยายอานุภาพแห่งรักอันบริสุทธิ์ไปทั่วทิศทั่วจักรวาลสู่สรรพชีพทั้งปวง

เมื่อแผ่เมตตาเต็มเปี่ยมจากดวงใจอยู่ก็ไม่มีที่ว่างให้ความเหงาใด ๆ เกิดขึ้นได้

 

 

ความรักและความน่ารัก

ความรักมิใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป และมิใช่สิ่งดีงามตลอดกาล อยู่ที่ว่ารักนั้นมีลักษณะเช่นใด

หากความรักนั้นเป็นเพื่อความรู้สึกขื่นขม เพื่อการยึดถือและการครอบครอง รักนั้นเป็นรักเลวทราม ที่นำมาซึ่งความแหนงใจตัวเอง และทำให้เหนื่อยเปลี้ยโดยไร้สาระ ทั้งยังทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ความรักเช่นนี้เป็นสะพานเชื่อมทุกข์กับสุข ผู้มีรักย่อมวิ่งกลับไปกลับมาบนสะพาน สานทุกข์สร้างสุขอยู่มิรู้จบ เพราะรักแบบนี้มีทุกข์เป็นฐาน มีสุขเป็นหวัง และต่างก็สร้างกันและกัน

ดังนั้น ทุกข์แห่งรักแบบนี้จึงสร้างอาการแห่งสุข ก็สุขแห่งรักแบบนี้ ย่อมสร้างเชื้อแห่งทุกข์ไว้สานอนาคตสืบไป รักแบบนี้ควรละเสีย

หากรักใดเป็นไปเพื่อความกว้างขวาง เบิกบาน เป็นการเอื้อความอบอุ่นความผาสุกแก่กัน เป็นรักที่ปราศจากชนชั้น แผ่ออกไปอย่างไร้ขอบเขตจำกัด รักแล้วใจสะอาดโปร่งสบาย รักนั้นเป็นความรักชั้นดี ที่นำผู้รักเข้าสู่แนวโน้มนิรันดร ซึ่งเรียกว่าเมตตา อันเป็นที่มาแห่งความน่ารัก

ความน่ารักมีเสน่ห์กว่าความรัก แต่ความรักซาบซึ้งกว่าความน่ารัก เมื่ออยู่ในการณ์จำเป็นต้องมีรัก อย่าไปตะบี้ตะบันรักใคร แต่จงหมั่นทำใจตนเองให้น่ารัก เมตตา อ่อนโยน จริงใจหนักแน่น และไม่เหลวไหล ใคร ๆ ก็จะมารุมรัก แล้วจึงมอบเมตตาที่เหมาะสมให้แก่แต่ละคน

ความน่ารักเป็นเพียงตัวก่อให้เกิดความรัก แต่ไม่อาจบำรุงเลี้ยงความรักให้มั่นคงได้ เสมือนหัวไม้ขีดนั้นไม่อาจรักษาไฟให้ดำรงอยู่ได้ ต้องใช้ก้านไม้ขีดมาบำรุงเลี้ยงไฟต่อไป ดังนั้น เมื่อจุดประกายแห่งศรัทธาขึ้นแล้ว จงใช้น้ำใจอันผ่องแผ้ว และความรับผิดชอบหน้าที่โดยบริบูรณ์ เกื้อกูลความรักแห่งศรัทธาให้ดำเนินสืบไปอย่างราบรื่นมั่นคง

 

 

จักรวาลน้อย ๆ ในดวงใจ

จักรวาล คือการหมุนตามวาระ นับแต่สิ่งที่มีขนาดใหญ่ดังกาแลกซี่ และสิ่งที่เล็กมากดังอนุภาค ต่างก็มีการหมุนรอบศูนย์กลาง ด้วยแรงกำหนดวาระ

ในจิตใจก็เช่นกัน เมื่อเอาอัตตาเป็นศูนย์กลาง อารมณ์ชอบอารมณ์ชังก็หมุนเวียนรอบตัวตนอยู่เสมอ สร้างแรงเหวี่ยงแห่งความอยากและไม่อยากทำให้ชีวิตเคลื่อนไป

ทั้งรูปธาตุและนามธรรม ล้วนมีจักรวาลในตนทั้งสิ้น ด้วยทุกสิ่งอยู่บนรากฐานแห่งกฎเกณฑ์อันเดียวกันนั่นเอง

โลกนี้มีองค์ประกอบแบบทวิลักษณ์ คือมีลักษณะเป็นคู่ดำรงร่วมกันอยู่ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด มืด-สว่าง โง่-ฉลาด ชอบ-ชัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ร่วมกันในอัตราผสมที่ต่าง ๆกันไป แม้ในความร้อนก็มีความเย็นแฝงอยู่ ในความเย็นก็มีความร้อนแฝงอยู่

ในทำนองเดียวกัน ในความชอบก็มีความชังเร้นอยู่ ในความชังก็มีความชอบเร้นอยู่ ตัวอย่างเช่น การชอบใครสักคนหนึ่งอย่างเทิดทูนก็เพราะไม่รักไม่ชอบตนเองอย่างที่ตัวเป็น จึงต้องชอบคนอื่นซึ่งเป็นได้อย่างที่ตนอยากเป็น หรือการชังการกระทำของใครบางคนก็เพราะชอบที่จะให้เขาทำอย่างอื่นที่ถูกใจตน

เมื่อความชอบแสดงบทบาทเด่นอยู่ก็จะรู้สึกเหมือนว่าชอบ ครั้นความชังที่แฝงอยู่ในความชอบแสดงบทบาทเด่นบ้าง ก็อาจชังได้แม้สิ่งที่ชอบนั้น เมื่อความชังแสดงบทบาทเด่นอยู่ ก็เสมือนว่าชังครั้นความชอบที่เร้นอยู่ในความชังแสดงบทบาทบ้างก็อาจชอบได้แม้สิ่งที่ชังนั้น ด้วยเหตุนี้ทุกสิ่งจึงเป็นอนิจจัง จิตที่เห็นแต่ส่วนดีของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่เห็นส่วนพร่องของสิ่งนั้น จะตกเป็นทาสของมันหรือเห็นแต่ส่วนเลวของสิ่งนั้น ไม่เห็นส่วนดีของมัน ก็จะพลาดโอกาสในการดูดซับความดี ต่อเมื่อเห็นทั้งดี-ชั่วแฝงเร้นอยู่ร่วมกันแล้ว ใจก็จะถอนความยึดถือในความดี และไม่มัวเมาในความชั่วเป็นกลางวางเฉย ทรงอุเบกขาแท้จริง

อุเบกขาแท้จริงนั้นต้องเกิดจากปัญญาอันกระจ่างแจ้ง มีอำนาจปลดปล่อย ให้ใจวางได้เสียซึ่งเหตุแห่งความแปรปรวน ใจจึงจะสงบเป็นกลาง วางเป็นปกติเย็นอยู่

กระนั้น จิตที่ทรงอุเบกเขานั้น มิใช่เฉยทื่ออยู่กับตัวเองอย่างไม่รู้ไม่ชี้กับสิ่งใด เพราะความไม่รู้ไม่ชี้เป็นโมหะ แต่จิตที่บริบูรณ์ด้วยสัมปชัญญะ ย่อมทรงตนอยู่อย่างได้ดุล และรู้ทุกอย่างที่เข้ามากระทบโดยแจ่มจ้า เมื่อรู้แจ้งแล้วไม่ชอบและไม่รังเกียจ ไม่ยึดถือและไม่ผลักไส จึงไม่ถูกกระแทกหรือถูกเค้นให้คับแค้นใจ ทุกสิ่งจึงดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยธรรม

สิ่งใดที่ควรทำก็กระทำด้วยใจอันปรกติ สิ่งใดที่มิควรกระทำก็ไม่กระทำด้วยใจปกติ ไม่ว่าทำหรือไม่ทำ ใจก็สงบเย็นเฉยอยู่ ด้วยความเป็นกลางแท้โดยธรรม จึงวางเฉยได้สนิทในทุกกิจที่กระทำโดยมิเสียการทรงตัวของจิต เมื่อใจไม่ส่ายซัดก็ไม่เพลียล้า ประหนึ่งบุรุษผู้แข็งแรง ที่ก้าวเดินไปอย่างกระฉับกระเฉง มั่นคง ย่อมเดินไปได้บนทางไกลฉันใด ดวงใจที่มีอุเบกขาย่อมประกอบกิจได้มากมายโดยไม่เหน็ดเหนื่อยฉันนั้น