1

 

 

 

                                                                 
คำถามจาก บ้านเจ้าพระยา
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐

1.
•  ไม่สบายต้องกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบาปไหม เพราะเท่ากับฆ่าชีวิตอื่นเพื่อรักษาชีวิตตน

คำตอบ
  
ชีวิตคือความเป็นอยู่ สิ่งมีชีวิตคือความเป็นอยู่ที่ประกอบขึ้นด้วยรูปและนาม รูปอย่างเดียวและนามอย่างเดียว เชื้อแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยรูปอย่างเดียว ฉะนั้นการกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มิได้พรากนามให้หลุดออกไปจากรูปจึงมิได้ผิดศีลของปาณาติบาต

 

2.
•  ทำงานเป็นเจ้าของโรงงานมีพนักงานเยอะ เห็นเขาทำงานทั้งเหนื่อยทั้งหนักบาปไหม เท่ากับเราสร้างกรรมกับพนักงาน แล้วก็เราต้องชดใช้กันต่อไปอีกรึเปล่า กลัวบาปจนไม่อยากทำโรงงานต่อช่วยตอบด้วยค่ะ

คำตอบ
    ให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำไม่ถือว่าเป็นบาป (ผิดศีล) วัดได้จากพนักงานมีความพอใจในงานที่ทำ มีความยินดีกับค่าตอบแทนที่ได้รับ และทำงานอย่างมีความสุขใจ หากพนักงานทำงานแล้วมีอารมณ์ของใจเป็นในทางตรงกันข้ามแสดงว่าเจ้าของโรงงานได้สร้างเวรกรรมไว้กับพนักงาน ถือว่าเป็นบาป เมื่อกรรมที่ผูกไว้ให้ผลเจ้าของโรงงานต้องได้รับอกุศลวิบาก
 

3.
•  คนที่มักโกรธ และไม่ชอบศึกษาธรรมะคนอยู่ด้วยลำบากใจ จะทำอย่างไรถึงจะช่วยให้เขาเป็นคนที่มีจิตใจดีได้

คำตอบ
    คนที่มีกำลังสติอ่อน เข้าใกล้คนแบบไหนมักเป็นเหมือนคนแบบนั้น ใกล้คนดีเขาก็ดีตาม ใกล้คนชั่วเขาก็ชั่วตาม ใกล้คนร้อนเขาก็ร้อนตาม ใกล้คนมีศีลมีธรรมเขาก็มีศีลมีธรรมตาม ฯลฯ ฉะนั้นหากจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน หรือต้องทำงานร่วมกัน ทุกคนที่อยู่แวดล้อมต้องพัฒนาตนเองให้เป็นคนมีเมตตา มีศีลและมีธรรม จึงจะมีโอกาสให้เขาคล้อยตามได้
 

4.
•  ที่ฟังอาจารย์พูดถึงการเข้านิโรธสมาบัตินั้น ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติได้จะต้องเป็นพระอริยบุคคลเบื้องสูงคือพระอนาคามีและพระอรหันต์ ปัจจุบันล่วงเลยเวลามา 2,500 ปี ซึ่งในพระวินัยปิฎกกล่าวว่าไม่มีพระอรหันต์ ขออาจารย์กรุณาตอบด้วยค่ะ

คำตอบ
   ผู้ตอบปัญหามิได้ศึกษาพระวินัย จึงไม่ทราบว่าคำกล่าวเช่นนี้ใครเป็นคนเขียนบอกไว้ แต่ทราบว่าในพระไตรปิฎกมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ที่สำคัญกับชีวิตคือเรื่องธรรมและเรื่องวินัย หากผู้ใดทำเหตุให้ถูกตรงกับธรรมและวินัย จนสามารถนำจิตเข้าถึงธรรมขั้นสูง คือเกิดปัญญาเห็นแจ้งได้ แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้ง กำจัดกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน (อนุสัย7) หรือใช้ปัญญาเห็นแจ้ง กำจัดกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ไม่ให้พ้นไปจากวัฏสงสาร (สังโยชน์ 10) ได้ความเป็นอริยบุคคลขั้นสูงสุด (อรหันต์) ย่อมเกิดขึ้นได้

   จากประสบการณ์ของผู้ตอบปัญหา ที่ไม่เชื่อคำพูดที่ออกจากปากของมนุษย์ และในชีวิตนี้ได้พัฒนาจิตวิญญาณ มายาวนานกว่า 30 ปี ยังไม่พบข้อบกพร่องของธรรมและวินัย ที่พระพุทธะมอบไว้แก่ชาวโลกยังบริสุทธิ์ บริบูรณ์ เป็นจริงมีเหตุมีผล และอยู่ยืนยาวมานานกว่า 25 ศตวรรษ และยังได้พบเห็นอริยสาวกหลายท่าน ประพฤติตนได้ถูกต้องตามธรรมตามวินัย พร้อมทั้งมีจิตวิญญาณ ไม่ถูกครอบงำด้วยกลุ่มของกิเลสที่กล่าวถึงข้างต้น แล้วความเป็นอริยบุคคลขั้นสูงสุดจะไม่มีอยู่หรือ
 

5.
•  วิธีเจริญจิตในกุศลให้บ่อย ๆ ที่สุด จำต้องกระทำอย่างไรจะน้อมจิตให้สะสมเป็นอารมณ์เพื่อพัฒนา ขอวิธีเจริญฌานค่ะท่าน

คำตอบ
   เอาแค่นี้หรือ ที่ถามไปยังไม่เป็นเหตุทำให้พ้นไปจากทุกข์ได้

ประสงค์มีจิตเป็นกุศลต้องปฏิบัติดังนี้
   •  ประพฤติตนให้มีศีลครองใจอยู่ทุกขณะตื่น
  •  เจริญสติภาวนา ตามกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง (ดูกรรมฐาน 40) ที่เหมาะกับชีวิตของตนและหากประสงค์จะพัฒนาจิตให้เข้าถึงฌาน ต้องเจริญสติให้มีกำลังกล้าแข็ง จนจิตเข้าถึงความตั้งมั่นสูงสุด (อัปปนาสมาธิ) ได้เมื่อใดแล้วการทรงฌานของจิตก็จะเกิดขึ้น
 
 

6.
•  นิพพาน (มีชีวิตอยู่) ขันธ์ยังไม่ดับ ทำให้สัญญา (การจำ) หรือความจำดีขึ้นหรือไม่ หรือไม่เกี่ยวพันกันเพราะเหตุใด

คำตอบ
   
ใครผู้ใดก็ตามหากทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิได้แล้ว จะส่งผลทำให้ความถี่ของคลื่นสมองมีความเป็นระเบียบ ทำให้มีความจำดีขึ้นสิ่งนี้เป็นหลักฐานที่ได้จากการวิจัยในต่างประเทศ ยืนยันให้เห็นได้เป็นรูปธรรม
  

7.
•  อาชีพทนายความที่ตัดสินช่วยคนผิดให้ถูก ถือว่าเป็นกรรมไหมค่ะ

คำตอบ
    ทนายความมิใช่ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความ แต่เป็นผู้สร้างหลักฐานประกอบการตัดสินของผู้พิพากษา ฉะนั้นการสร้างหลักฐานเท็จช่วยคนที่ประพฤติผิดกฎหมายให้เป็นคนประพฤติถูกกฎหมาย ถือได้ว่าทนายความประพฤติอกุศลกรรม
 

8.
•  คนที่มีองค์เทพมาอยู่ด้วยและคอยอยู่ช่วยเหลือดูแล ช่วยกรุณาอธิบายด้วยค่ะ

คำตอบ
    การประพฤติตนให้อยู่ในธรรม เป็นคุณธรรมของมนุษย์การรักษามนุษย์ผู้มีศีลมีธรรม เป็นคุณธรรมของชาวสวรรค์ ตัวอย่างเช่น นางฟ้าที่ชื่อ “ มณีเมขลา ” ช่วยเหลือพระโพธิสัตว์ ในสมัยที่ไปเสวยพระชาติเป็น “ พระมหาชนก ” ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ ขณะลอยคอว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร
  

9.
•  ไปกรรมฐานแล้วได้องค์เทพท่านทำกรรมฐานด้วย ถือว่าเป็นบารมีสูงมากไหมค่ะ

คำตอบ
    ไม่สูงหรอก ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดปัญญาเห็นแจ้งขึ้นกับตนเองได้บารมีสูงกว่า
 

10.
•  ผมตอนอายุ 6 ขวบตกน้ำประมาณ 3 เมตรไปอยู่ใต้น้ำประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ตอนอยู่ใต้น้ำทำไมเวลามันเหมือนกับ 2-3 นาทีครับ ตอนนี้อายุ 50 กว่าแล้ว

คำตอบ
    คนปกติจมอยู่ใต้น้ำประมาณครึ่งชั่วโมง จิตก็ทิ้งร่างไปนานแล้วแต่คนที่ผิดปกติ เช่นคนที่มีภาวะของจิตเข้าสู่นิโรธสมาบัติได้จมอยู่ใต้น้ำนานแค่ไหนก็ไม่ตายในกรณีของคุณคงต้องสรุปว่า บุญคุ้มครองรักษาคุณให้รอดชีวิตมาได้
 

11.
•  การติดในฌาน มีลักษณะอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ถ้าอยู่ในฌาน หลักต้องมีวิธีเข้าและออกแบบถูกวิธีอย่างไร (จึงจะไม่มีผลกับชีวิตประจำวัน)

คำตอบ
    การที่จิตทรงอยู่ในฌานจะมีอารมณ์ของฌานเกิดขึ้นให้จิตรับรู้ได้ (ดูคำตอบปัญหาจากเว็บไซด์ ข้อ 458 (2))

   ข้อดีของการติดฌาน คือจิตมีพลังมาก หนีทุกข์ได้ชั่วคราวพ้นนิวรณ์ 5 ได้ชั่วคราว โรคบางอย่างหายไป ยืดอายุให้ยืนยาว ฯลฯ

   ข้อเสียของการติดฌาน คือภาวะของจิตยังเป็นปุถุชนจิตเกิดความหลง เช่น หลงดี หลงติดอยู่ในฌาน ตายแล้วไปเกิดเป็นพรหมหลงติดชั่ว เช่น ติดอกุศลกรรม ตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิได้ ฯลฯ

  การเข้าฌานแล้วจะไม่ให้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันนั้นไม่มี เพราะเมื่อทำเหตุแล้ว ต้องมีผลเกิดตามมาแน่นอน

วิธีเข้าฌาน
    1. ต้องอธิษฐานก่อนเข้าฌาน ว่าจะเข้าฌานนานเท่าใด
    2. เจริญสติภาวนา จนจิตตั้งมั่นสูงสุด (อัปปนาสมาธิ)

หมายเหตุ
    ผู้ตอบปัญหาไม่แนะนำให้กระทำหากผู้ปฏิบัติธรรมยังไม่สามารถพัฒนาจิตตนเองให้เข้าสู่ปัญญาเห็นแจ้งได้ เหตุเพราะจะทำให้หลงติดอยู่ในอารมณ์ของฌาน และจิตจะหลงติดอยู่ในโลกิยอภิญญาต่าง ๆ เช่นแสดงฤทธิ์ได้ ติดการมีตาทิพย์ ติดการมีหูทิพย์ ฯลฯ
  

12.
•  ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเมื่อพิจารณาเห็นสภาพของร่างกายเป็นอสุภะแล้วจนถึงเห็นเป็นสภาพคลื่นละเอียด หรือบางครั้ง เห็นว่าร่างกายเป็นสภาพที่เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาในทุกอนุของร่างกาย เพียงแต่เราไม่รู้สึกเพราะไม่มีสตินั้นและเข้าใจว่ากายกับความทุกข์ทางกายเป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่จิตเป็นสภาพที่เข้าไปรู้ว่าสภาพต่าง ๆ ของร่างกายเป็นอย่างไร แล้ววางอุเบกขาในสิ่งต่าง ๆที่ได้เห็นเช่นนี้ถือว่าเป็นการพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาทางธรรมใช่หรือไม่

คำตอบ
    ถ้าเป็นการเห็นแจ้งด้วยจิต แล้วจิตปล่อยวางสิ่งที่ถูกเห็น มีอารมณ์ของจิตเป็นอุเบกขา ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่มีอารมณ์ใดเกิดขึ้น จิตมีความเป็นอิสระ เกิดปัญญารู้ทันว่า สรรพสิ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุ เมื่อเหตุดับสิ่งต่าง ๆ ล้วนดับไปด้วย อย่างนี้ถือว่าเกิดปัญญาเห็นแจ้งทางธรรม

   แต่หากมีสิ่งกระทบภายนอก เข้ากระทบจิตแล้วจิตยังมีอารมณ์ทั้งดีและไม่ดีเกิดขึ้น อย่างนี้ถือว่า ยังไม่เกิดปัญญาเห็นแจ้งในทางธรรม 
 

13.
•  การทำความดีกับการทำบุญแตกต่างกันอย่างไร

คำตอบ
    การกระทำของมนุษย์เรียกว่ากรรม มนุษย์ทำกรรมได้ 3 อย่าง คือ ทำทางกาย (กายกรรม) ทำทางวาจา (วจีกรรม) และทำทางใจ (มโนกรรม) หากทำกรรมตามแนวทางของบุญกิริยาวัถตุ 10 ถือได้ว่าเป็นการทำความดี เพราะทำแล้วเกิดเป็นบุญสั่งสมอยู่ในจิตของผู้กระทำ ดังนั้นการทำความดีกับการทำบุญจึงไม่แตกต่างกัน
 

14.
•  ถ้าคุณแม่ชอบเล่นการพนัน (ไพ่+แทงทอย) มีวิธีอย่างไรจะช่วยดลใจให้ท่านเลิกอบายมุขบ้างค่ะ

คำตอบ
    ถ้าคุณแม่ชอบเล่นการพนัน ลูกควรเป็นตัวอย่างที่ดี ให้แม่ศรัทธาแล้วจึงหากิจกรรมอื่นที่เป็นบุญให้แม่ทำ
 

15.
•  ดิฉันหนทางตันไม่ทราบว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งมีโครงการจะแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่งแรกก็สุภาพดีหลัง ๆ เริ่มมีอาการด่าทอคำหยาบทำร้ายร่างกายโดยสาเหตุมาจากหึงหวง (ดิฉันทำงานอยู่ กทม. เขาอยู่พิษณุโลก) เขาจะหึงเป็นฉาก คิดเองหาเรื่องทะเลาะไม่พูดคุยแบบเหตุผล ดิฉันสงสารเขาเหมือนกันที่เป็นคนแบบนี้หาความสุขใจแท้จริงไม่ได้ ดิฉันควรใช้ธรรมะ (เคยแนะนำแต่ไม่รับเท่าไหร่) และแต่งงานกับเขาหรือจะหนีโดยลาออกจากงานและไม่ติดต่อกับเขาเลย ดิฉันพร้อมเสมอกับการช่วยเหลือแต่ก็ทุกข์ใจเสมอเมื่อเขาทำร้ายร่างกายจิตใจ จะทำอย่างไรดีกับชีวิตด้วยปัญญาที่น้อยนิดนี้

คำตอบ
    กมฺมุนา วตฺตี โลโก มีความหมายว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ในมงคล 38 พระพุทธะตรัสกับเทวดา ผู้ไปขอให้พระองค์แสดงความเป็นมงคลว่า “ อเสวนา จ พาลานัง..เอตัมมังคะละมุต ตะมัง ” มีความหมายว่า “ การไม่คบคนพาล เป็นมงคลอย่างยิ่ง ” ผู้ตอบปัญหาเป็นได้เพียงผู้ชี้ทาง ผู้ถามปัญหาต้องเลือกทางเดินของชีวิตด้วยตัวเอง ว่าจะเชื่อแล้วทำตามที่พระพุทธะบอกหรือจะทำเป็นอย่างอื่นก็เป็นสิทธิ์ของผู้ถามปัญหา
 

16.
•  เพื่อนขโมยเงินเราอโหสิกรรมให้เพื่อน เพื่อนก็ไม่เกิดทุกข์น่ะสิคะ

คำตอบ
    เรื่องนี้อยู่ที่ผู้ถูกขโมยเงิน ว่าจะยกโทษให้เขาหรือไม่ยกโทษให้ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ถามปัญหา แต่พระพุทธะตรัสว่า “ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ” หากคุณเชื่อพระพุทธะแล้วยกโทษให้เขา หนี้เวรที่คุณเคยก่อไว้กับเขาก็เป็นอันจบสิ้นไป
 

17.
•  การเข้านิโรธสมาบัติทำอย่างไรคนธรรมดาทำได้ไหมครับ

คำตอบ
    คนธรรมดา (ปุถุชน) ไม่สามารถทำจิตวิญญาณให้เข้าสู่ภาวะนิโรธสมาบัติได้

   ถามว่าเข้านิโรธสมาบัติทำได้อย่างไร ตอบว่า ต้องสั่งสมบุญบารมีให้มากพอจนภาวะของจิตเป็นอิสระจากสังโยชน์ 5 (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ) ได้ และต้องเจริญสติจนจิตดิ่งเข้าสู่ความเป็นฌาน แล้วเจริญสติให้มีกำลังยิ่งขึ้นโอกาสเข้าสู่นิโรธสมบัติจึงจะเกิดขึ้นได้ 
 

18.
•  กรรม 12 มีอะไรบ้างครับ

คำตอบ
     ขออภัยไม่ได้เรียนอภิธรรมจึงไม่รู้ในสมมติบัญญัติที่ถามไปจึงตอบไม่ได้
 

19.
•  กริยาวัตถุ 10 มีอะไรบ้าง

คำตอบ
    กิริยาหมายถึงการกระทำ คำว่ากิริยาวัตถุ 10 ไม่มีแต่มีคำว่า “ บุญกิริยาวัตถุ 10 " หมายถึงการกระทำที่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญทำได้ 10 อย่าง

20.
•  ทำความดีต้องอุทิศบุญกุศลถ้าทำแล้วลืมอุทิศ ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ค่อยอุทิศผลเท่ากันไหมครับ

คำตอบ
    ลืมอุทิศบุญกุศลหลังจากทำบุญแล้ว แสดงว่าจิตขาดสติ เมื่อเวลาผ่านเนิ่นนานไปแล้วนึกได้ แสดงว่าจิตมีสติหลังจากทำบุญแล้วเสร็จ ผู้ทำบุญเกิดความอิ่มใจขึ้นในดวงจิตมากแต่เมื่อทิ้งระยะให้เนิ่นนานออกไปความอิ่มใจลดลงฉะนั้นอานิสงส์ในการอุทิศบุญจึงได้ไม่เท่ากัน
  

21.
•  การทำความดี แล้วไม่อุทิศ ผลดีนั้นอยู่กับเรารึเปล่า

คำตอบ 
    ผลที่เดจากความดีคือบุญ จะอุทิศหรือไม่อุทิศบุญให้ผู้อื่น บุญนั้นยังถูกเก็บฝังอยู่ในใจของผู้กระทำ
 

22.
•  คนเสียชีวิตแล้วอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรเค้าไหมครับหรือไม่ต้องแล้วครับ

คำตอบ
    คนที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถอุทิศบุญกุศลที่ตนมีให้กับเจ้ากรรมนาวเวรของผู้ล่วงลับไปแล้วได้ หากเจ้ากรรมนายเวรของผู้ตาย ยอมรับและมาอนุโมทนาบุญที่มีผู้อุทิศให้ได