คำตอบอาจารย์สนอง วรอุไร  

การบรรยายธรรมที่ เดอะมอลล์นครราชสีมา

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒


คำถามข้อ ๑ อยากทราบจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของศาสนาพุทธคืออะไร

คำตอบ
จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนามี ๒ จุดมุ่งหมาย

๑.  มุ่งสอนฆราวาส (อุบาสก อุบาสิกา) ให้ประพฤติตนเป็นผู้มีศีล มีธรรมคุ้มครองใจ เพื่อให้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างปกติสุข

๒.   มุ่งสอนนักบวช (ภิกษุ ภิกษุณี) ให้ประพฤติตนเป็นผู้มีธรรมมีวินัย เพื่อนำพาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งปวง


คำถามข้อ ๒ การฝึกฌาน ควรเริ่มต้นอย่างไร

คำตอบ การฝึกฌานของฆราวาส ควรประพฤติตนให้เป็นผู้มีศีล ๕ (ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย) คุมใจ มีสัจจะคุมใจ แล้วเจริญสมถภาวนาอย่างต่อเนื่องยาวนานได้แล้ว โอกาสทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ (อัปปนาสมาธิ) หรือสมาธิระดับฌานย่อมเกิดขึ้นได้


คำถามข้อ ๓ เป็นทุกข์ที่เป็นสากล คือ มีหนี้สินมาก อยากทราบวิธีทางธรรมที่จะให้หมดหนี้ได้เร็วๆ

คำตอบ ความทุกข์ที่เป็นสากลของปุถุชนคือทุกข์ประจำได้แก่ การเกิด การแก่ การตาย และทุกข์จรได้แก่ ประพฤติตนให้เป็นหนี้ทางวัตถุ ประพฤติตนให้มีโรคภัยเบียดเบียน ไปยึดเอากิเลสของคนอื่นมาเป็นของตัว ฯลฯ

ปัญหาเรื่องเป็นหนี้ทรัพย์ จะแก้ไขให้หมดไปได้เร็ว ต้องแสวงหาทรัพย์ให้มีมาก ด้วยการทำงานดีที่ให้ผลตอบแทนสูง ทำงานให้มากชนิด ทำงานให้มากชั่วโมง และต้องประพฤติตนเป็นผู้บริโภคใช้สอยมักน้อยเท่าที่จำเป็น บริโภคใช้สอยแต่สิ่งที่เป็นสาระ แล้วนำทรัพย์ในส่วนที่เหลือไปผ่อนใช้หนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าหนี้สินที่ก่อไว้จะหมดไป


คำถามข้อ ๔ จากคำกล่าวที่ว่า มนุษย์บุญไม่ถึง ฝึกสมาธิเองไม่ได้ หากเราได้รับการฝึกจากผู้รู้หรือพระแล้ว เรารู้วิธีแล้ว จะนำมาฝึกเองได้หรือไม่ จะเป็นอันตรายไหม

คำตอบ เมื่อรู้วิธีการฝึกจิตจากผู้รู้แล้ว สามารถนำเอาวิธีการมาฝึกได้เองที่บ้าน แต่ต้องรายงานผลการฝึกให้ครูได้ทราบ เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผลออกมาถูกตรง ผู้รู้จะได้แนะนำให้ฝึกในขั้นต่อไป ในกรณีที่ไม่มีการสอบอารมณ์ หากผลการฝึกออกมาผิดพลาดถึงขั้นวิบัติ หรือจิตปรุงอารมณ์วิปริตเกิดขึ้น จะเกิดความเสียหายกับผู้ปฏิบัติธรรมได้


คำถามข้อ ๕

(๑) อยากให้อาจารย์ยืนยันว่าชีวิตคนมีเวียนว่ายตายเกิดจริง

(๒) ถ้าเกิดจริง เราจะเตรียมตัวในชาตินี้อย่างไร

(๓) ขออาจารย์ชี้แนะเรื่องสร้างบุญ

คำตอบ

(๑) ผู้ใดพัฒนาจิต (สมถภาวนา) จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิระดับฌานได้ แล้วนำจิตออกจากฌาน ปุพเพนิวาสานุสติญาณซึ่งเป็นหนึ่งในอภิญญา ๕ จะเกิดกับผู้นั้น แล้วผู้นั้นจะรู้ว่า การเวียนตายเวียนเกิดมีอยู่จริง

(๒) เมื่อจิตจำเป็นต้องทิ้งร่างกาย ผู้ใดประสงค์ไปเกิดในสุคติภพ ต้องทำเหตุให้ถูกตรง เช่น ประพฤติตนมีศีล ๕ คุมใจอยู่เสมอ เมื่อตายไปมีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ประพฤติศีล ๕ และบำเพ็ญทานประพฤติศีล ๘ หรือประพฤติสมถภาวนาจนจิตตั้งมั่นเป็นฌาน แล้วตายในขณะจิตทรงอยู่ในฌาน ตายแล้วไปเกิดเป็นพรหม ฯลฯ

(๓) ผู้ใดประพฤติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แล้ว บุญย่อมเกิดขึ้นและถูกสั่งสมอยู่ในจิตวิญญาณของผู้นั้น บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ประพฤติอ่อนน้อม ขวนขวายรับใช้ อุทิศความดีให้ผู้อื่น ยินดีในความดีของผู้อื่น ฟังธรรม เทศน์ธรรม และทำความเห็นให้ถูกตรง


คำถามข้อ ๖ การจุดพลุ จุดประทัดหรืออื่นใดในงานศพ เผาศพ (โดยเฉพาะบุคคลธรรมดา) ก่อความรำคาญเดือดร้อน เป็นมลภาวะทางเสียงเป็นอย่างมาก ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนค่านิยมเหล่านี้ให้ลดน้อยลง

คำตอบ ไม่มีใครผู้ใดสามารถเปลี่ยนค่านิยมของผู้อื่นได้อย่างแท้จริง เว้นไว้แต่ว่าผู้นั้นต้องพัฒนาจิตจนเข้าถึงเหตุผลจริงแท้ด้วยตนเองได้เมื่อใดแล้ว การประพฤติไร้สาระและเบียดเบียนผู้อื่นจึงจะหมดไปได้


คำถามข้อ ๗ เมื่อยังเป็นเด็กวัยรุ่น เคยทำให้พ่อแม่เสียใจ เถียงพ่อแม่เพราะเชื่อในความคิดตัวเอง ทำให้ไม่ทราบว่าสิ่งที่เราทำลงไปเป็นบาป และอยากถามอาจารย์ว่า ดิฉันจะได้รับกรรมอย่างไร ปัจจุบันนี้ตัวดิฉันเองมักจะประสบปัญหามาตลอด ขัดสนเรื่องเงินใช้จ่าย สิ่งนี้เป็นกรรมที่ดิฉันเคยทำให้พ่อเสียใจหรือไม่ มีวิธีลดกรรมได้หรือไม่

คำตอบ หากบาปที่กระทำแล้วให้ผลรุนแรงกว่าบุญ ความวิบัติ (อุปสรรค , ปัญหา) ของชีวิตย่อมเกิดขึ้น

                วิธีลดวิบากไม่ดีที่เคยก่อไว้กับพ่อแม่ ต้องประพฤติตนให้เป็นผู้มีบุญ (ดูข้อ ๕ (๓)) แล้วอุทิศบุญให้ท่านรับรู้ พร้อมทั้งไปขอขมากรรมที่ทำไม่ดีไว้แก่ท่าน เพื่อให้ท่านกล่าววาจายกโทษให้ ประพฤติเช่นนี้บ่อยๆ ประพฤติทุกครั้งที่มีโอกาสเปิดให้ทำ และต้องประพฤติจริยธรรมลูกที่ดี คือ ท่านเลี้ยงมาเลี้ยงดูท่านตอบแทน ช่วยทำธุรกิจการงานของท่าน ดำรงวงศ์สกุลมิให้เสื่อมเสีย ประพฤติตนเป็นทายาทที่ดี (ไม่โต้แย้ง ไม่โต้เถียง ไม่ทำให้เสียใจ) เมื่อท่านล่วงลับต้องทำบุญอุทิศไปให้ท่าน ประพฤติเช่นนี้อยู่เสมอแล้วความกตัญญูก็จะเกิดขึ้น นำพาชีวิตไปสู่ความเจริญในกาลข้างหน้า


คำถามข้อ ๘

(๑)  เจ้ากรรมนายเวรสามารถทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วยจริงหรือไม่ ถ้าจริงจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร

(๒) จะทราบได้อย่างไรว่าบุตรชายที่เกิดมาจะเป็นคนดี เช่น เทวดามาเกิด

(๓) คนที่นับถือศาสนาอื่น เมื่อทำกรรมไม่ดีจะต้องมารับกรรมในนรกของศาสนาพุทธหรือไม่

คำตอบ

(๑) จริง ในกรณีที่เจ้ากรรมนายเวร ปรารถนาทำให้คู่เวรต้องเจ็บป่วย ผู้ใดประสงค์ให้หนี้เวรกรรมหมดไปต้อง
    
๑.      ยอมรับความจริง และชดใช้หนี้เวรกรรมไปเรื่อยๆจนหมดสิ้น
     
๒.    ทำบุญใหญ่ (จิตตภาวนา) และอุทิศบุญใช้หนี้เจ้ากรรมนายเวร
     
๓.     ทำดี (คิด พูด ทำดี) ทุกขณะตื่น เพื่อหนีให้ห่างเจ้ากรรมนายเวร
     
๔.     หนีเข้านิพพาน

(๒) ผู้ใดมีพฤติกรรมละอายชั่วกลัวบาป ประพฤติศีล ๕ และบำเพ็ญทานอยู่เสมอ หรือประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ อยู่เสมอ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้นั้นเป็นเทวดามาเกิด

(๓) กรรมหมายถึงการกระทำ มนุษย์ทำกรรมได้สามทาง คือ มโนกรรม วจีกรรมและกายกรรม การกระทำเป็นพฤติกรรมสากล บุคคลในศาสนาอื่น เมื่อประพฤติกรรมไม่ดี ย่อมให้ผลเป็นวิบากไม่ดี เช่น ค้ายาบ้าและถูกจับได้พร้อมหลักฐานและถูกพิพากษาให้จำคุก ผู้ค้ายาบ้าจึงต้องรับอกุศลวิบากนั้นเหมือนกัน เช่นเดียวกันศาสนิกใดประพฤติทุศีล ตายแล้วจึงมีโอกาสไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในนรกได้เหมือนกัน


คำถามข้อ ๙ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต เขาจะได้รับหรือไม่

คำตอบ ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว หากเขาสามารถมาอนุโมทนาบุญได้ เขาย่อมได้รับอานิสงค์แห่งบุญนั้น


คำถามข้อ ๑๐ ลูกๆซื้อของมาทำบุญ แต่ให้แม่เป็นคนถวายพระ อยากทราบว่าแม่จะได้บุญไหมคะ

คำตอบ ได้บุญครับ เพราะผู้เป็นแม่ได้บำเพ็ญทาน (ถวาย) กับพระสงฆ์แล้ว


คำถามข้อ ๑๑ เมื่อเราเกิดความกลัวมากๆ เราจะช่วยตัวเองไม่ให้กลัวได้อย่างไร

คำตอบ ผู้ใดรู้จริงในเรื่องที่ทำให้เกิดความกลัว ผู้นั้นย่อมไม่กลัวในเรื่องนั้นอีกต่อไป เหมือนกับที่ผู้ตอบปัญหาเคยกลัวผี เมื่อรู้จริงเรื่องผีจึงไม่กลัวผีอีกต่อไป ฉะนั้นต้องพัฒนาตนให้เป็นผู้รู้จริง (ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) จึงจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความกลัวได้อย่างถูกตรงที่สุด