คำถาม-คำตอบ จากงานบรรยายธรรม
ณ หอประชุมโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ๑๓-๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ผู้รับฟัง - ข้าราชการและลูกจ้างของโรงพยาบาล, สำนักงานสาธารณสุข อ.นาเชือก และสถานีอนามัยทุกแห่ง ข้าราชการ/พนักงาน หน่วยงานของรัฐใน อ.นาเชือก และประชาชนผู้สนใจ
  1. พุทธศาสนาทั่วโลกมีพุทธมามะกะจำนวนประมาณเท่าไร  คำว่าทางเสื่อมบ่อนทำลาย “พุทธ” ทำให้ชาวพุทธลดจำนวนี้ร่อยหรอลงเป็นไปได้หรือไม่

    คำตอบ  
        ถามถึงจำนวนผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา (พุทธมามกะ) ตอบว่าไม่ทราบ เพราะรู้ไปไม่ได้ทำให้พ้นทุกข์ เหตุที่จำนวนชาวพุทธลดลงเป็นเพราะ พุทธบริษัทจำนวนหนึ่ง นิยมพัฒนาปัญญาทางโลก (สุตมยปัญญาและจินตมยปัญญา) จึงเข้าไม่ถึงความจริงแท้ในธรรมวินัยที่ระบุไว้ในพุทธศาสนา ความศรัทธาจึงลดลงและนำตัวออกจากพุทธศาสนา


  2. ปัจจุบันพระสงฆ์องคเจ้าทำผิดพระธรรมวินัยมากมายท่านมีความรู้สึกอย่างไร

    คำตอบ  
        มีความรู้สึกว่า นักบวชที่ประพฤติไม่ถูกตรงตามธรรมวินัยเป็นครูสอนใจ มิให้ประพฤติแบบเขา ชีวิตก็จะไม่เสื่อมเช่นเขา


  3. ทุกศาสนาทั่วโลกจัดอันดับคนนับถือมากไปหาน้อย 1..2..3...4...5และพุทธศาสนาเราอยู่ลำดับที่เท่าไร  เพราะเหตุใด

    คำตอบ  
        มิได้ติดตามว่าถูกจัดอยู่ในลำดับที่เท่าไร แต่ไม่ใช่ลำดับที่หนึ่งและสอง เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการใช้ปัญญาเห็นแจ้ง ส่องนำพาชีวิตไปสู่การพ้นทุกข์ การพัฒนาจิตให้เข้าถึงปัญญาเห็นแจ้งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และเมื่อนำปัญญาเห็นแจ้งมาส่องนำพาชีวิตแล้วเป็นการทวนกระแสโลก จึงเป็นเหตุทำให้พุทธศาสนิกมีไม่มาก


  4. ทำไมศรัทธาในพุทธศาสนาถึงลดน้อยลงมาก  การทำบุญก็จะทำแต่สิ่งง่ายๆ   เราจะช่วยชี้ทางเขาอย่างไงดีครับ   ถึงแม้เขาจะหาว่าเราบ้าวัดบ้าบุญ  เราก็อยากช่วยเขาครับ

    คำตอบ  
        เหตุที่ทำให้คนมีศรัทธาในพุทธศาสนาลดน้อยลง เป็นเพราะคนจำนวนมากนิยมพัฒนาปัญญาทางโลก ซึ่งพัฒนาได้ง่ายกว่าและไม่สวนทางกับกระแสโลก ส่วนปัญญาทางธรรมเป็นปัญญาสูงสุดที่พัฒนาได้ยาก และเมื่อนำมาใช้แล้วเป็นการทวนกระแสโลก จึงมีคนจำนวนน้อยสนใจและพัฒนาขึ้นกับตัวเอง


  5. คำว่ามือถือสากปากถือศีลคือพฤติกรรมคนเช่นไรโปรดอธิบาย

    คำตอบ  
        คำว่า “ มือถือสาก ปากถือศีล ” หมายถึงคนที่ยังประพฤติชั่ว แต่มีปากพร่ำพูดอยู่แต่ความดีงาม เช่นสอนให้คนอื่นประพฤติดี ทั้งที่ตัวเองยังประพฤติคอรัปชั่น ประพฤติเบียดเบียน ประพฤติทุศีล ฯลฯ


  6. ความยุติธรรมคืออะไร  ความอิ่มบุญคืออะไร

    คำตอบ  
       
    คำว่า “ ยุติธรรม ” หมายถึง ความชอบด้วยเหตุผล (ทางโลก)

       คำว่า “ อิ่มบุญ ” หมายถึง ความชุ่มชื่นใจที่ได้ทำบุญมามาก


  7. ประเทศไทยเราเล็กๆ ทำไมผู้คนทะเลาะกันดีจัง   คอรัปชั่นก็เยอะ   การเมืองก็เน่า  เยาวชนลูกหลานปัจจุบันสอนยาก   สูบบุหรี่ กินเหล้า ยกพวกตีกันจะแก้อย่างไร

    คำตอบ  
       
    พฤติกรรมชอบทะเลาะกัน เป็นพฤติกรรมของสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานที่หมดอายุขัย แล้วจิตวิญญาณโคจรมาอาศัยอยู่ในร่างของมนุษย์ ความนิยมในพฤติกรรมชอบทะเลาะกัน ชอบยกพวกตีกัน ชอบอบายมุข ฯลฯ จึงได้เกิดขึ้น เรียกมนุษย์ประเภทนี้ว่า มนุสฺสติรัจฉาโน

       ถามว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร? ตอบว่าแก้ไขได้สองทางคือ แนวทางแรก ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการพัฒนาผู้รักษากฎหมาย ให้ทำหน้าที่อย่างถูกตรง รวดเร็ว ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย แนวทางที่สอง คือพัฒนาบุคคลของสังคม ให้มีศีลมีธรรมเป็นพื้นฐานของใจ และคัดเลือกเอาคนเก่งที่มีศีลธรรมขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยงาน


  8. ภาคอีสานทำบุญอุทิศร่วมกุศลหาผู้ตาย ฆ่าวัว ฆ่าหมู่ ฉลองเหล้า จ้างมหรสพมาฉลองแพงๆ วัยรุ่นชกต่อยบางทีไล่ยิ่งไล่ฟันบาดเจ็บล้มตายก็มี  จะทำอย่างไร

    คำตอบ  
        หากพัฒนาคนที่อยู่ในหมู่บ้านให้เป็นผู้มีศีลมีธรรมได้เมื่อไร ปัญหาที่ถามไปจะไม่เกิดขึ้น


  9. วัด ที่ดี คืออย่างไร

    คำตอบ  
        คือวัดที่มีภิกษุประพฤติตนถูกตรงตามธรรมวินัย คือประพฤติตนให้มีศีลมีธรรมนั่นเอง


  10. ให้อาจารย์เล่าการปฏิบัติธรรมของพระนางจามเทวี และในอดีตท่านเกี่ยวเนื่องกับอาจารย์อย่างไร   ขณะนี่ท่านไปเกิดอยู่ที่ไหนแล้ว

    คำตอบ  
       
    ในทางโลก พระนางจามเทวีปกครองประชาราษฎร์โดยมีราชธรรม (ทาน ศีล ปริจจาคะ อาชชวะ มัททวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ และอวิโรธนะ) เป็นเครื่องสนับสนุน แต่ในบั้นปลายของชีวิตพระนางฯ ประพฤติตนอยู่ในทางธรรม ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญจิตตภาวนาอยู่เสมอ แต่ยังมิได้เข้าถึงดวงตาเห็นธรรม

        อดีตของพระนางฯ ข้องเกี่ยวกับผู้ตอบปัญหา ด้วยการนำพาชีวิตดำเนินอยู่ในทางธรรมเช่นกัน หลังจากที่ผู้ตอบปัญหาได้ทำประวัติของพระนางฯแล้วเสร็จ หลังจากอนุสาวรีย์ฯถูกประดิษฐานแล้ว หลังจากวัดต่างๆที่เนื่องด้วยพระนางฯถูกบูรณะขึ้นแล้ว ฯลฯ คืนวันหนึ่งท่านมาบอกว่า “ แม่ไปละ ” ผู้ตอบปัญหามิได้ถาม จึงไม่ทราบว่าท่านไปเกิดอยู่ที่ไหน

                               
  11. อยากให้อาจารย์เล่าเรื่องท่านเป็นฤาษีอยู่เมืองสาเกต ท่านทันยุคพระพุทธเจ้าไหม

    คำตอบ  
        ในขณะที่เกิดเป็นมนุษย์และบำเพ็ญตนเป็นฤๅษีอยู่ที่เมืองสาเกต แคว้นโกศล ในห้วงเวลานั้นพระพุทธะประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศลเดียวกัน ระยะทางระหว่างเมืองสาเกตกับเมืองสาวัตถีห่างกันประมาณ ๑๑๒ กิโลเมตร ด้วยเหตุฤๅษีมีปัญญาเห็นผิด จึงมัวแต่เพลินและหลงติดอยู่ในอภิญญา ๕ มิได้ศรัทธาในคำสอนพระพุทธ จึงเป็นเหตุนำเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในทุกวันนี้


  12. อาจารย์บอกว่าตาเห็นทำให้ดับ หูได้ยินทำให้ดับ   หนูเข้าใจอาจารย์พูด  แต่ทำอย่างไรจะทำได้

    คำตอบ  
        การจะเห็นผัสสะดับได้ ต้องพัฒนาจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิจวนแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) ให้ได้ก่อน แล้วใช้จิตที่เป็นสมาธิระดับนี้ ตามดูผัสสะที่เกิดขึ้นทางตา ผัสสะที่เกิดขึ้นทางหู ว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อผัสสะเข้าสู่ความเป็นอนัตตา ผัสสะที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ตัวตน จิตจะวางผัสสะ แล้วเข้าสู่ความว่างเป็นอุเบกขา ต้องใช้จิตตามดูแบบนี้ครับ


  13. ปอบมีจริงหรือไม่   ถ้ามีจริงทำไมจึงเป็นปอบ

    คำตอบ  
        ผู้ใดยังมีจิตเป็นทางของสมมุติ จะรู้ว่าปอบคือผีที่สิงอยู่ในตัวคน และกินตับไตไส้พุงจนคนที่ถูกสิงตายลง เหตุที่เป็นปอบเพราะก่อนตายจากมนุษย์ มีจิตเห็นผิดไปจากความเป็นจริงนั่นเอง


  14. พระที่กรุงเทพฯ บิณฑบาตได้เยอะๆ   นำให้โยมเขาไปขายเป็นเงิน   พระชนบทดื่มเหล้า เคล้าผู้หญิง เล่นไฮโล   หลวงพ่อคูณ พูดไม่เพราะ กูมึง (เพื่ออะไร)

    คำตอบ  
        ภิกษุกรุงเทพฯประพฤติเช่นนั้น เพื่อเติมความโลภของตน ภิกษุชนบทประพฤติเช่นนั้น เพื่อทำตามความอยากโดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด หลวงพ่อคูณพูดเช่นนั้นเพื่อสื่อความหมายถึงองค์ท่าน และถึงคนที่ท่านพูดด้วย พูดเพราะหรือไม่เป็นเรื่องที่คิดเอาเอง แต่คนโบราณใช้คำเช่นนี้แทนสรรพนาม


  15. พระใบ้หวยทำตัวเป็นผู้วิเศษดูหมอ  ยกยอตัวเอง บางคนหมดทางไป  มาบวชอาศัยผ้าเหลืองวัดหากิน ท่านคิดเช่นไร

    คำตอบ  
        คิดว่าเขาเป็นครูสอนผู้ตอบปัญหา ว่าหากตนเองได้บวชเป็นภิกษุ ต้องไม่ประพฤติละเมิดวินัยเช่นนั้น


  16. ปฏิบัติถือศีล 5 หรือ ศีล 8 โดยไม่ได้สมาทานศีล  จะมีผลบุญหรือไม่

    คำตอบ  
        คำว่า “ สมาทาน ” หมายถึง การถือปฏิบัติหรือรับเอามาเป็นข้อปฏิบัติ ฉะนั้นบุคคลสามารถปฏิบัติศีล ๕ หรือศีล ๘ ด้วยตัวเองก็ได้ หรือไปรับศีล๕ หรือศีล ๘ มาจากบุคคลอื่น แล้วนำมาปฏิบัติก็สามารถทำได้


  17. คำว่า ทศบารมีและปรมัตถบารมีหมายถึงอย่างไร โปรดอธิบายด้วย

    คำตอบ  
       
    คำว่า “ ทศบารมี ” หมายถึง คุณธรรม ๑๐ อย่าง (ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา) เมื่อบุคคลประพฤติได้แล้ว จะเกิดเป็นบารมีสั่งสมอยู่ในจิตวิญญาณของผู้ประพฤติ

              ส่วนคำว่า “ ปรมัตถบารมี ” หมายถึง บารมีที่บำเพ็ญอย่างสูงสุด (อุกฤษฏ์) เช่น เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้บารมีนั้นๆเกิดขึ้น ดังตัวอย่างตอนที่พระโพธิสัตว์ไปเสวยพระชาติเป็นกระต่ายป่า ได้กระโดดเข้ากองไฟที่ลุกโชน เพื่อเผาตัวเองให้สุกเป็นอาหารให้ (ทานปรมัตถบารมี) แก่พราหมณ์ (ท้าวสักกะเนรมิต) ผู้ทรงศีล
  18. การมีจิตของการเป็นผู้ให้ (ที่บริสุทธิ์) โดยไม่ต้องการผลตอบแทน  ควรปฏิบัติอย่างไร

    คำตอบ  
        ต้องให้ของดีของที่ประณีต (ดีกว่าที่ตนมีตนใช้) เป็นทาน และให้ทานด้วยความศรัทธา ให้ทานด้วยความเคารพ ให้ทานตามกาล ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ และให้ทานด้วยไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น


  19. ท่านรู้เรื่องสมัยพุทธกาลมาก  ท่านได้ศึกษาจากพระไตรปิฎกหรือเปล่าครับ  หรือรู้ทางฌาน

    คำตอบ  
        รู้จากประสบการณ์ที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณ และตรวจสอบสมมุติบัญญัติจากพระไตรปิฎก เพื่อสื่อความหมายให้ตรงกัน


  20. บุญมีกี่ระดับครับ  ท่านได้บรรยายบุญระดับกลาง   บุญกิริยาวัตถุ 10   แล้วการทำความเห็นให้ตรงต้องทำอย่างไร

    คำตอบ  
       
    หากคิดตามความหยาบความละเอียดของสภาวะจิต ที่ทำให้บุคคลไปอุบัติเป็นสัตว์อยู่ในภพภูมิต่างๆ สามารถจำแนกบุญออกได้เป็น ๔ ระดับ

    ๑.กามาวจรบุญ ได้แก่บุญที่นำพาบุคคลให้เวียนตาย-เวียนเกิดอยู่ในกามภพ บุญเช่นนั้นได้ทาน ศีล

    ๒.รูปาวจรบุญ ได้แก่บุญที่นำพาบุคคลให้เวียนตาย-เวียนเกิดอยู่ในรูปภพ เช่นบุญที่เกิดจากการปฏิบัติสมถกรรมฐาน

    ๓. อรูปาวจรบุญ ได้แก่บุญที่นำพาบุคคลให้เวียนตาย-เวียนเกิดอยู่ในอรูปภพ ได้แก่บุญที่เกิดจากการเจริญอรูปกรรมฐาน ๔ อย่าง (อากาโสอนนฺโต วิญฺญาณํอนนฺตํ นตฺถิกิญฺจิ เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ)

    ๔. โลกุตตรบุญ ได้แก่บุญที่อยู่เหนือกามภพ รูปภพและอรูปภพ คือบุญที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

    ส่วนคำว่า “ ทำความเห็นให้ตรง ” หมายถึง ทำความเห็นให้ถูกตรงตามธรรม บุคคลจะทำเช่นที่กล่าวได้ ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดปัญญาเห็นแจ้งขึ้นกับจิต ความเห็นจึงจะถูกตรงตามธรรมได้
       

  21. การรักษาศีล 5  การรักษาศีล 8 (ศีลอุโบสถ) การรักษาศีล 10 กรรมบถ 10   บุคคลสามจำพวกนี้จะมีบารมีแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

    คำตอบ  
       
    ศีลเป็นคุณธรรมที่ให้ผลเป็นบุญได้ ให้ผลเป็นบารมีได้ ศีลและกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้ผลเป็นบารมีที่แตกต่างกันดังนี้

    ศีล ๕ เป็นบารมีที่นำให้บุคคลเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล ระดับโสดาบันและระดับสกิทาคามีได้

    ศีล ๘ และศีล ๑๐ เป็นบารมีที่ทำให้บุคคลเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล ระดับอนาคามีและระดับอรหันต์ได้

    กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นคุณธรรมที่ทำให้บุคคลเข้าถึงสวรรค์สมบัติได้


  22. ในเรื่องที่ว่าความหลงในความรู้ทางโลก (ความรู้ทางวิชาการ)   หากเราจะต้องนำความรู้ทางโลกมาใช้ในการทำงานแล้ว  เราจะทำอย่างไรไม่ให้หลงในความรู้นั้นๆ

    คำตอบ  
       
    ต้องพัฒนาจิตให้มีสติกล้าแข็งและให้มีปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้สติปัญญาเห็นแจ้งไปตามดูการใช้ความรู้ (ปัญญา) ทางโลกมาใช้ในการทำงานให้กับโลก หรือพูดในอีกแนวทางหนึ่งว่า รู้เท่าทันการใช้ความรู้ทางโลก


  23. ระหว่างบุญกับบาป  สามารถทำทดแทนกันได้หรือไม่  หรือลบล้าง

    คำตอบ  
       
    คำว่า ทดแทน หากหมายถึงตอบแทนหรือชดเชยแล้ว บุญกับบาปจึงทดแทนกันไม่ได้ เมื่อใดที่บุญให้ผล ผู้มีบุญต้องเป็นผู้ได้รับผลบุญคือความสุข เมื่อใดที่บาปให้ผล ผู้มีบาปต้องเป็นผู้ได้รับผลบาปคือความทุกข์

    ส่วนคำว่า ลบล้าง หากหมายถึงทำให้หมดสิ้นไป ฉะนั้นบุญกับบาปจึงลบล้างกันไม่ได้ แต่เลิกแล้วต่อกัน (อโหสิ) ได้ หากผู้นั้นสามารถดับรูปดับนามเข้านิพพานได้


  24. นอนสวดมนต์และอธิษฐาน  ซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าหิ้งพระ  เป็นการปฏิบัติที่ถูกหรือผิด

    คำตอบ  
        ต้องถามว่าถูกของใคร ผิดของใคร บุคคลที่อยู่ในอิริยาบถนอน เช่นเป็นอัมพาต แต่ยังมีปากพูดได้ก็สามารถสวดมนต์ได้ สามารถอธิษฐานได้ เช่นเดียวกันคนที่อยู่ในอิริยาบถนอนแต่ยังไม่หลับ ก็สามารถสวดมนต์ได้ สามารถอธิษฐานได้เช่นกัน จะสวดมนต์ จะอธิษฐาน ณ ที่แห่งใด สามารถทำได้ทั้งนั้นถ้าปรารถนาจะทำ


  25. เราทำบุญอย่างไรก็ตาม  แต่เราไม่ขอ  ไม่เอ่ยจุดประสงค์  เราจะได้บุญหรือไม่

    คำตอบ  
        ได้บุญครับ แต่บุญให้ผลแตกต่างกันระหว่างผู้ตั้งปรารถนา (เอ่ยจุดประสงค์) และผู้มิได้ตั้งปรารถนา (ไม่เอ่ยจุดประสงค์) ตัวอย่างเช่น พระอานนท์ตั้งปรารถนาเป็นพุทธอุปัฏฐากในพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งไว้ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า เมื่อมาถึงสมัยพระพุทธโคดมอุบัติ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพุทธอุปัฏฐาก ทั้งๆที่พระนาคิตะ พระมหาจุนทะ พระเมฆิยะ พระสาคตะ ฯลฯ เคยอุปัฏฐากพระสมณโคดมมาก่อน แต่มิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระองค์ ทั้งนี้เพราะมิได้ตั้งจุดประสงค์ไว้แต่กาลก่อน


  26. เราฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหาร  เช่นปลา ไก่ แล้วเราขออโหสิกรรมและแผ่เมตตาแก่สัตว์เหล่านั้น บาปยังจะติดตัวเราอยู่หรือเปล่า

    คำตอบ  
       
    ขออโหสิกรรมได้ แต่สิทธิในการยกโทษให้หรือไม่ยกโทษให้ ยังเป็นของสัตว์ที่ถูกฆ่า หากสัตว์ที่ถูกฆ่ายกโทษให้คือไม่ผูกพยาบาทถือว่าผู้ฆ่าไม่มีบาป ตรงกันข้ามขออโหสิแล้ว แผ่เมตตาให้ก็ทำแล้ว แต่สัตว์ที่ถูกฆ่ายังผูกพยาบาทอยู่ ถือว่าผู้ฆ่ายังมีบาปอยู่


  27. เราทำบุญ เช่น ทำทานต่างๆ ใส่บาตร ถ้าเรากรวดน้ำจะไปถึงบุคคลที่เราเอ่ยถึงหรือไม่  อีกอย่างทำบุญแล้วกรวดน้ำปากเปล่า  จะได้ประโยชน์หรือไม่

    คำตอบ  
       
    คำว่า “ กรวดน้ำปากเปล่า ” หากหมายถึง ไม่ได้กรอกน้ำแต่พูดด้วยวาจา และบุคคลที่ถูกอุทิศให้อยู่ในสถานะที่รับบุญได้และเขามาอนุโมทนาบุญ การกระทำในลักษณะนี้เป็นประโยชน์ได้


  28. เราสวดมนต์หรือนั่งสมาธิแล้วเราโอนบุญให้แก่เทวดาที่รักษาตัวลูกหลานเรา  จะเป็นจริงหรือไม่

    คำตอบ  
        หากพฤติกรรม “ โอนบุญ ” ได้กระทำให้เกิดขึ้นแล้ว ถือว่าเป็นความจริงครับ


  29. ขอท่านอ.อาจารย์ได้กล่าว ถึง อีคิว ไอคิว เอ็มคิว เอสคิว ให้ผู้เข้าฟังธรรมทราบด้วย

    คำตอบ  
       
    ไอคิว ( Intelligence Quotient) หมายถึง ระดับเชาวน์ปัญญา ซึ่งเทียบระหว่างอายุจริงกับอายุของสมอง

        อีคิว ( Emotional Quotient) หมายถึง จริยธรรมหรือความประพฤติที่ดีงาม

        เอสคิว (Spiritual Quotient) หมายถึง ความเป็นอิสระของจิตวิญญาณ


  30. การรักษาศีล 5   ในบางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้  ในการทำอาหารก็ต้องฆ่าสัตว์ ถ้าจะให้แม่ทำก็กลัวแม่บาป (แม่ก็แก่แล้ว) ถ้าไม่ทำก็จะอดตาย อยากทราบว่าจะบาปมากไหม ถ้าบาปมากจะแก้บาปอย่างไร  เพื่อจะได้สบายใจขึ้นบ้าง

    คำตอบ  
       
    คนที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ (มังสวิรัติ) มีอยู่ในโลกนี้มายาวนานและบัดนี้ก็ยังมีอยู่ คนที่บริโภคเนื้อสัตว์ด้วยการไปซื้อซากศพของสัตว์มาประกอบเป็นอาหารก็ยังมีอยู่ คำว่าฆ่าสัตว์ หมายถึง การทำให้จิตวิญญาณของสัตว์ต้องหลุดออกจากร่าง แล้วไปหาร่างใหม่อยู่อาศัย พระพุทธะจึงได้บัญญัติเป็นศีลข้อปาณาติบาตมิให้พุทธบริษัทกระทำ

    ถามว่า : ฆ่าสัตว์บาปมากไหม?

    ตอบว่า : โทษอย่างหนักตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์นรก โทษอย่างเบาทำให้อายุสั้น

    ถามว่า : จะแก้บาปนี้อย่างไร?

    ตอบว่า : ดีที่สุดคือปิดอบายภูมิ ด้วยการพัฒนาจิตให้เป็นพระโสดาบัน ดีน้อยกว่า หยุดทำกรรมชั่วทำแต่กรรมดี แล้วอุทิศบุญใช้หนี้สัตว์ที่ถูกฆ่า


  31. ทำยังไงถึงจะมีความอดทนและอ่านหนังสือได้นานๆ เพราะเวลาที่มีทุกข์ทำให้คิดมาก  อยากให้อาจารย์ ช่วยยกตัวอย่างการสร้างเหตุที่ทำให้เกิดในภพภูมิต่างๆ  

    คำตอบ  
       
    ประสงค์จะเพิ่มความอดทน ต้องพัฒนาจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิด้วยการปฏิบัติสมถภาวนา หากพัฒนาจนเข้าถึงฌานได้แล้ว ความทุกข์ย่อมหายไปนานตราบเท่าที่จิตทรงอยู่ในฌาน และหากเมื่อใดถอนจิตออกจากความทรงฌาน จะมีความอดทนเพิ่มมาก ทำให้อ่านหนังสือได้ยาวนาน

    ส่วนเหตุที่ทำให้จิตวิญญาณโคจรไปเกิดเป็นสัตว์ในภพต่างๆ มีดังนี้

    โทสะ เป็นเหตุนำเกิดเป็นสัตว์อยู่ในภพนรก

    โลภะ เป็นเหตุนำเกิดเป็นสัตว์อยู่ในภพเปรต

    โมหะ เป็นเหตุนำเกิดเป็นสัตว์อยู่ในภพเดรัจฉาน

    ศีล ๕ เป็นเหตุนำเกิดเป็นสัตว์อยู่ในภพมนุษย์

    ศีล ๕ + ทาน หรือศีล ๘ เป็นเหตุนำเกิดเป็นสัตว์อยู่ในภพสวรรค์

    ฌาน เป็นเหตุนำไปเกิดในพรหมโลก


  32. มีผู้เคยพบพระอรหันต์ที่ท่านนิพพานแล้ว มีจริงหรือ (เช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่โอบ ฯลฯ) ถ้ามีจริงท่านมาอย่างไร นำอะไรมา เพราะอรหันต์ก็ละกายแล้ว ละจิตแล้ว (ตามความเข้าใจ) เหมือนที่ว่าไปอย่างไม่เลี้ยวกลับ

    คำตอบ  
       
    ตอบว่าไม่ทราบ เพราะตัวเองยังพัฒนาจิตไม่ถึงความเป็นอริยบุคคลสูงสุด จึงไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระอรหันต์ที่ดับรูปดับนามไปแล้ว


  33. ชอบฝันว่าเหาะได้บินได้  เป็นเพราะอะไร

    คำตอบ  
       
    เป็นเพราะธาตุกำเริบ


  34. เวลาปฏิบัติมีอาการวูบ ตัวโยก แล้วเงียบ  คล้ายมีอาการหลับหรือเรียกว่าอะไร (แต่คำบริกรรมหายไป)

    คำตอบ  
       
    เรียกว่า เกิดวิปัสสนูปกิเลส


  35. ขอทราบวิธีการฝึกปฏิบัติให้ได้ฌาน

    คำตอบ  
       
    ต้องมีศีล ๕ คุมใจ แล้วปฏิบัติสมถกรรมฐาน โดยมีความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุน เมื่อจิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้แล้ว สิ่งที่ปรารถนาย่อมเกิดขึ้นได้


  36. ทำอย่างไรจึงจะกำจัดนิวรณ์ 5 ได้

    คำตอบ  
       
    กำจัดนิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา) ให้หมดไปได้ ต้องพัฒนาปัญญาเห็นแจ้งให้เกิดขึ้น แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งตามดูกิเลสที่เป็นนิวรณ์ว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์


  37. อีก 10 ปี น้ำทะเลจะท่วม กทม. จริงหรือไม่

    คำตอบ  
       
    ปัจจุบันน้ำยังไม่ท่วมกรุงเทพฯ


  38. การที่พระฉลองพัดยศในตำแหน่งต่างๆ   โดยการจัดงานเอิกเกรกถือว่าผิดศีลธรรมหรือไม่ (ถือว่าหลงในลาภยศสรรเสริญหรือไม่) ทำอย่างไรจึงจะขจัดค่านิยมที่ผิดๆเหล่านี้ได้

    คำตอบ  
       
    การกระทำ (กรรม) ต้องดูที่เจตนา หากการฉลองพัดยศมีเจตนาอยู่ที่การบำเพ็ญทาน เทศน์ธรรม ฟังธรรม อุทิศบุญกุศล ฯลฯ เหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีล หากภิกษุใดประพฤติไม่ถูกตรงตามธรรมวินัย หากประสงค์จะขจัดค่านิยมที่ผิด ต้องไม่นำตัวเข้าร่วม


  39. มนุษย์ตายแล้วไปไหน

    คำตอบ  
       
    ไปที่ชอบ ผู้ใดชอบประพฤติอยู่แต่กุศลธรรม ตายแล้วย่อมไปเกิดอยู่ในภพภูมิที่ดี (สุคติภพ) ผู้ใดประพฤติอยู่แต่อกุศลธรรม ตายแล้วย่อมไปเกิดอยู่ในภพภูมิที่ไม่ดี (ทุคติภพ)


  40. นรกและสวรรค์มีจริงหรือเปล่า

    คำตอบ  
       
    มีจริงครับ


  41. ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเสริมจากการทำนาคือ เลี้ยงวัว การขายวัวซึ่งผู้ซื้อนำไปส่งโรงฆ่าสัตว์ถือเป็นบาปหรือไม่

    คำตอบ  
       
    ถือได้ว่าเป็นบาปครับ


  42. ลูกประพฤติชั่ว  ห้ามปรามสั่งสอนก็ไม่ฟัง  ยังคงประพฤติชั่ว  พ่อแม่เลยแจ้งตำรวจจับเพื่อหยุดการทำชั่ว  หวังให้ไปดัดนิสัยอยู่ในคุก   อย่างนี้พ่อแม่บาปไหม

    คำตอบ  
       
    ประพฤติแล้วทำให้จิตเศร้าหมอง ถือว่าเป็นบาป


  43. ถ้าชาติหน้ามีจริง  ไดโนเสาร์หรือสัตว์บางชนิดมีสูญพันธ์ไปจากโลก  ทำไมไม่กลับมาเกิดอีกประเทศอื่นๆ ที่ไม่นับถือศาสนาพุทธ  เช่น  ยุโรปอเมริกา  ฝรั่งมังค่าอื่นๆ   ตายแล้วไปไหน

    คำตอบ  
       
    การเกิดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ไดโนเสาร์ ต้องมีเหตุปัจจัยบนดวงดาวที่จะไปเกิดมีความพร้อม ที่ทำให้เกิดเป็นรูปร่างกายที่มีขนาดใหญ่โตเช่นนั้นได้ จึงจะมีไดโนเสาร์เกิดขึ้นใหม่ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะเป็นเช่นนั้น แต่จิตวิญญาณของไดโนเสาร์สามารถโคจรมาเข้าอยู่อาศัยในร่างของสัตว์อื่นหรือมนุษย์ได้

       ส่วนคนในประเทศที่มิใช่ชาวพุทธ ตายแล้วไปเกิดตามแรงผลักของกรรมที่ทำไว้ (ดูข้อ ๓๙.)


  44. การเปลี่ยนชื่อ สกุล มีผลต่อกรรมที่จะเกิดต่อตัวเราหรือไม่

    คำตอบ  
       
    การเปลี่ยนชื่อไม่มีผล แต่ความเชื่อ (ศรัทธา) ในสมมุติบัญญัติของชื่อมีผลต่อกรรม (การกระทำ) ที่จะเกิดขึ้นกับตัวของผู้ที่เชื่อว่าเปลี่ยนชื่อแล้วดี