รวมแนวคิดสำคัญจากศาสนาและศาสดาเอกของโลก

เรียบเรียงโดยฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัฒนาและนภ

พราหมณ์ฮินดู

ศาสนาฮินดู หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม พราหมณ์ฮินดู เป็นศาสนาที่ไม่ปรากฏศาสดา แต่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “พราหมณ์” ซึ่งหมายถึงคนในวรรณะสูงที่สุดของสังคมอินเดีย มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมและให้ความรู้ทางศาสนา

สรุปคำสอนสำคัญ

•  นับถือเทพเจ้า ๓ องค์ หรือที่เรียกว่า “ตรีมูรติ” ซึ่งได้แก่ พระพรหม ผู้สร้างโลก พระศิวะ ผู้ทำลาย และ พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ผู้ปกป้องและรักษาโลก

•  มนุษย์มีกรรม เป็นตัวกำหนดและต้องเวียนตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ วิธีเดียวที่มนุษย์จะพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ก็คือการปฏิบัติโยคะ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่เน้นเรื่องความภักดี การทำกรรมดี การทำจิตให้สงบ และการพัฒนาปัญญา เพื่อให้เข้าถึง “โมกษะ” คือความหลุดพ้นและมีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพรหม

•  คนเรามี ๔ วรรณะ ได้แก่

•  พราหมณ์ คือ ผู้ทำงานทางศาสนา

•  กษัตริย์ คือ ผู้ปกครองบ้านเมืองและนักรบ

•  แพศย์ คือ พ่อค้าและเกษตรกร

•  ศูทร คือ กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน

ความเชื่อเรื่องวรรณะนี้ แรกเริ่มเดิมทีเกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองและทำงานเพื่อ

สังคมได้ถูกตรงตามลักษณะของตนเอง ไม่ได้มีขึ้นเพื่อเหยียดหยามคนต่างวรรณะแต่อย่างใด

 

แนวคิดที่ควรนำมาประยุกต์ใช้

•  เพื่อความสมดุลอันดีงาม ช่วงชีวิตของมนุษย์ควรดำเนินไปตามหลัก อาศรม ๔ ได้แก่

•  พรหมจารี – ช่วงชีวิตแห่งการศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติพรหมจรรย์ และเชื่อฟังครูบาอาจารย์

•  คฤหัสถ์ – ช่วงชีวิตแห่งการสร้างครอบครัว ทำหน้าที่ทางจริยธรรม และใช้ชีวิตให้เต็มที่

•  วานปรัสถ์ – ช่วงวัยที่ต้องเกษียณอายุตัวเอง แล้วส่งมอบทุกอย่างให้ลูกหลานเพื่อเข้าหาศาสนา

•  สันยาสี – ช่วงที่ต้องปลีกตัวออกจากโลกและปล่อยวางวัตถุต่างๆ ให้หมด เพื่อเตรียมพร้อมรับความตายอย่างสงบ

•  ปฏิบัติตามหลัก อหิงสา คือการเว้นจากความรุนแรง และ ยมะ คือการเว้นที่สมควร ได้แก่ เว้นจากการเบียดเบียน ลักขโมย พูดปด ประพฤติผิดในกาม และอยากได้ของผู้อื่น

ซาราถุสตรา

ซาราถุสตรา คือศาสนาของ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ซึ่งเคยเป็นศาสนาประจำชาติของอิหร่านในสมัยโบราณ

สรุปคำสอนสำคัญ

•  เทพอหุระมาซดา คือพระเจ้าสูงสุด ผู้สร้างและรักษาระเบียบของโลก ผู้เป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้องและผู้ปกป้องคุ้มครองคนดีจากความชั่วร้าย

•  ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ โลกคือพื้นที่สู้รบระหว่าง ความดี และ ความชั่ว ซึ่งความดีจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด

•  มนุษย์สามารถ บูชาความถูกต้อง ได้ด้วยการ บูชาไฟ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของแสงสว่างที่จะเอาชนะความมืดได้ในที่สุด

•  มนุษย์มีความดีเป็นพื้นฐานและเกิดมาโดยไม่มีบาป ดังนั้นเมื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าและนักบวช ด้วยการคิดดี พูดดี ทำดี และหลีกห่างจากความชั่วร้าย มนุษย์ก็จะมีชีวิตที่บริสุทธิ์และดีงามตลอดไป

แนวคิดที่ควรนำมาประยุกต์ใช้

•  ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกด้านดีหรือด้านร้าย

•  ธรรมชาติและมนุษย์ต่างก็มีจิตวิญญาณ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องไม่ทำลายธรรมชาติ

 

โมเสส

โมเสส คือ ศาสดาแห่ง ศาสนายูดาห์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม ศาสนายิว

สรุปคำสอนสำคัญ

•  พระยะโฮวาห์ หรือ ยาห์เวห์ ผู้มีพระนามอันหมายความว่า “เราเป็นอย่างที่เราเป็น” ทรงเป็นผู้สร้าง ตักเตือน สั่งสอน ช่วยเหลือ และพิพากษามนุษย์ ทรงเป็นพระเจ้าสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียว

•  พระเจ้าจะพิพากษามนุษย์ ที่ตายแล้ว โดยจะลงโทษคนบาปด้วยการทำลายล้างให้หมดไป และประทานพรแก่คนดี ให้ได้มีชีวิตร่วมกับพระองค์ในสรวงสวรรค์

•  มนุษย์สามารถชำระบาปได้ด้วยการ สารภาพบาป สวดอ้อนวอน บูชาพระเจ้า และปฏิบัติตามบัญญัติ ของพระองค์ ซึ่งมีอยู่ ๑๐ ประการ เช่น ให้นับถือพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว ให้กล่าวถึงพระเจ้าด้วยความเคารพ ให้ทำงานเพียง ๖ วัน และยกวันที่ ๗ ให้เป็นวันของพระเจ้า ให้นับถือพ่อแม่ ไม่ฆ่าคน ไม่ล่วงประเวณีลูกเมียผู้อื่น ไม่ขโมย ไม่เป็นศัตรูหรือเบียดเบียนเพื่อนบ้าน

แนวคิดที่ควรนำมาประยุกต์ใช้

•  ทุกคนมีเพียงชีวิตเดียว ที่จะปลดเปลื้องบาป

•  เมื่อทำผิดจงยอมรับ ผู้ปฏิเสธความผิดสมควรที่จะได้รับโทษเป็นสองเท่า

•  ในแต่ละสัปดาห์ควรมีวัน พักผ่อน จากหน้าที่การงาน ๑ วัน เสมอ

มหาวีระ

มหาวีระ มีพระนามเดิมว่า วรรธมานะหรือที่รู้จักกันนามว่า นิครนถ์นาฏบุตร เป็นศาสดาของ ศาสนาเชน

สรุปคำสอนสำคัญ

•  แม้มหาวีระจะมีพระชนมายุอยู่ในชมพูทวีป ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาพราหมณ์ฮินดู แต่ก็ทรงปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระเจ้า แต่เชื่อว่ามนุษย์ต้อง พึ่งตนเอง เพื่อให้เข้าถึงความหลุดพ้น

•  มนุษย์ต้องปฏิบัติตนตามข้อปฏิบัติพื้นฐานของมนุษย์ คือ งดเว้นสิ่งที่ไม่ดี ๕ ประการ ได้แก่ การเบียดเบียน การพูดเท็จ หรือพูดเพื่อทำร้าย การลักขโมย การประพฤติผิดในกาม และการยึดติดกับร่างกาย บุคคล สถานที่ และวัตถุทุกประเภท ด้วยเหตุนี้มหาวีระและนักบวชของศาสนาเชนจึงไม่สวมเสื้อผ้า เพราะได้ปล่อยวาง จากวัตถุและร่างกายโดยสิ้นเชิงแล้ว

•  การยึดติดกับความสุขทางกาม วัตถุ และร่างกาย เป็นต้นเหตุของการกระทำผิดและสร้างกรรมเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้มหาวีระจึงสอนให้นักบวชเชนมุ่งกระทำ ทุกรกิริยา อย่างเคร่งครัดเพื่อลดกิเลส ความยึดติด และเพื่อให้เข้าใกล้ความหลุดพ้น

แนวคิดที่ควรนำมาประยุกต์ใช้

•  มนุษย์และสิ่งมีชีวิตในสังสารวัฏ ล้วนมีจิตวิญญาณและมีความสามารถที่จะพัฒนาจิตให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ได้เท่าเทียมกัน ดังนั้นมนุษย์จึงต้องระมัดระวังการก่อกรรมกับสิ่งมีชีวิตทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม

พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน มีพระนามเดิมว่า สิทธัตถโคตรมะ เป็นศาสดาของ ศาสนาพุทธ

สรุปคำสอนสำคัญ

•  แม้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนธรรมะไว้อย่างหลากหลายและมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งปัจจุบันนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือพระไตรปิฎกได้ถึง ๔๕ เล่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วแก่นธรรมของพระพุทธเจ้านั้นสามารถสรุปได้เป็นเรื่องเดียวคือ การทำชีวิตให้พ้นไปจากทุกข์ด้วยการเข้าใจและปฏิบัติตามหลัก อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่

•  ทุกข์ – สภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ

•  สมุทัย – เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา

•  นิโรธ – ความดับทุกข์ คือ การดับตัณหาได้สิ้นเชิง

•  มรรค – ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ๘ ประการได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ และตั้งจิตมั่นชอบ

•  สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป็นธรรมดา หากเข้าใจและยอมรรับในสัจธรรมข้อนี้ก็จะไม่ทุกข์

•  ปฏิบัติตนตามหน้าที่ของชาวพุทธคือ ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ และใช้ชีวิตตามหลัก ทางสายกลาง

•  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ทรงช่วยเราได้แค่เพียงชี้ทางเดินที่ถูกให้เท่านั้น

 

ขงจื้อ

สรุปคำสอนสำคัญ

•  ค่าของคนอยู่ที่ คุณธรรม และ จริยธรรม

•  การรู้จักกาลเทศะ การกระทำสิ่งต่างๆ ตามทำนองคลองธรรม และการมีชีวิตอยู่เพื่อส่วนรวม คือ คุณธรรมหลักของมนุษย์

•  จารีตประเพณี คือเครื่องมือในการขัดเกลาและปลูกฝังจริยธรรม ให้แก่มนุษย์

•  เป้าหมายของชีวิต คือการได้พัฒนาตัวเอง ด้วยการพิจารณาเรื่องภายในอย่างลึกซึ้ง และ ศึกษาเรื่องภายนอกอย่างกว้างขวาง

แนวคิดที่ควรนำมาประยุกต์ใช้

•  รัฐควรปกครองสังคมด้วย จริยธรรม ไม่ใช้ด้วยกฎหมายและบทลงโทษ

•  คนเราควรตัดสินเรื่องต่างๆ ด้วยการ ใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์ไม่ใช่ด้วยกฎเกณฑ์หรือค่านิยมของสังคม

•  จงเอาใจเขามาใส่ใจเรา และกระทำต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่ต้องการให้ผู้อื่นกระทำต่อตนเอง

•  ความกตัญญูกตเวที และความซื่อสัตย์ คือเครื่องหมายของคนดี

 

เล่าจื้อ

สรุปคำสอนสำคัญ

•  สรรพสิ่งเกิดขึ้นจากการปะทะกันของหยินและหยาง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้จึงประกอบไปด้วยพลังสองขั้วนี้เสมอ หยาง คือพลังบวก มีลักษณะสีแดง เป็นพลังของเพศชาย พบในสิ่งที่อบอุ่น สว่างไสว มั่นคง สดใส เช่น ดวงอาทิตย์ ไฟ และหยิน คือ พลังลบมีลักษณะสีดำ เป็นพลังของเพศหญิง พบในสิ่งที่หนาวเย็น มืด อ่อนนุ่ม ชื้นแฉะ ลึกลับ และเปลี่ยนแปลงง่าย เช่น เงามืด น้ำ