๕ วันที่ผมตื่น .... เรื่องโดย นภ สหรัฐ เจตมโนรมย์ ผมลืมตาขึ้นรับรู้เรื่องราวต่างๆของโลกรอบตัวเป็นครั้งแรกที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ที่ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมให้ผมเป็น นาย สหรัฐ เจตมโนรมย์ อย่างทุกวันนี้ ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่สนใจธรรมะ แต่ที่พิเศษคือ สมาชิกแต่ละคนจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เตี่ยกับแม่นับถือศาสนาพุทธแบบที่ต้องตื่นลงมาตักบาตรหน้าบ้านทุกเช้า ในขณะที่อากงกับอาคนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์และต้องไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ อาอีกคนหนึ่งนับถือศาสนาพุทธสายพม่า ส่วนอาม่ากับอาอีกคนหนึ่งนับถือศาสนาพุทธนิกายเซน เมื่อมีการรวมกลุ่มเพื่อนผู้ปฏิบัติของอาแต่ละคนที่บ้าน ผมก็มักจะถูกเกณฑ์ไปร่วมกิจกรรมด้วยตั้งแต่ยังเล็ก การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเชื่อที่หลากหลายเหล่านี้ หล่อหลอมให้ผมกลายเป็นคนที่ชอบทดลองสิ่งแปลกใหม่ และมีส่วนทำให้ ผมตัดสินใจเข้ามาสู่วิถีภาวนาตามแบบของ หมู่บ้านพลัม ที่มีหลายอย่างซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมของชาวพุทธบ้านเราโดยสิ้นเชิง เช่น การที่ฆราวาสสามารถนั่งรับประทานอาหารร่วมกับพระได้ หรือการที่พระสามารถฉันอาหารเย็นและร้องเพลงได้ฯลฯ นอกจากการได้อยู่ท่ามกลางความแตกต่างแล้ว อีกสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมให้ผมเป็นผมในทุกวันนี้ก็คือ ความที่บ้านของผมเป็นร้านขายหนังสือ จึงทำให้ผมเป็นคนที่รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ ผมอ่านหนังสือเป็นตั้งแต่สี่ขวบ โดยเริ่มจากการอ่านหนังสือการ์ตูนก่อน แม้ว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมองว่าการอ่านการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ผมกลับเห็นว่า ความจริงแล้วในท้องตลาดมีการ์ตูนดีๆ ที่มีสารประโยชน์อยู่มากมาย ให้ข้อคิดและปรัชญาในการดำเนินชีวิตแก่ชีวิต เช่น ทเวนตี้เซนจูรี่บอย รวมผลงานอมตะ ฟูจิโกะ SF คอลเล็คชั่น มอนสเตอร์ ฯลฯ ดังนั้นแทนที่จะห้ามลูกอ่านการ์ตูน พ่อแม่ควรจะเข้าไปช่วยเลือกการ์ตูนให้ลูกอ่าน แล้วใช้ความชอบอ่านการ์ตูนของลูกให้เป็นประโยชน์มากกว่า เพราะที่ผมกลายเป็นนักอ่านที่สามารถอ่านหนังสือธรรมะได้อย่างสบายใจ และสนใจความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ จนกระทั่งตัดสินใจเรียนด้านจิตวิทยาและมีอาชีพเป็นนักจิตวิทยา และนักเขียนอิสระเช่นปัจจุบันก็ต้องขอบคุณการอ่านหนังสือการ์ตูนเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยจุดประกายความรักในการอ่านและการศึกษาพฤติกรรมให้แก่ผมจนถึงทุกวันนี้ แม้ผมจะคิดว่าตนเองได้ใช้ชีวิตในระดับที่เรียกว่า ใช้ได้ มาถึง 28 ปี แต่ผมกลับเพิ่งรู้สึกตัวว่าได้ ตื่นอย่างเต็มตา ก็หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมภาวนาห้าวันกับท่าน ติช นัท ฮันห์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ตื่นตัวแรกคือ ตื่นเต้น ที่ได้ใกล้ชิดกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ซึ่งความนิ่งสงบของท่านมีพลังแผ่มาถึงผมได้อย่างชัดเจน และช่วยขจัดความขุ่นมัวให้หายไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ ตื่นตัวที่สองคือ ตื่นตา กับวิถีปฏิบัติที่ไม่คุ้นเคย เช่น การเดินการรับประทานอาหาร การยิ้ม การหายใจ ฯลฯ อย่างมีสติ และการทำสิ่งต่างๆ ทีละอย่าง ซึ่งทำให้เรารู้สึกเบิกบานอิริยาบถธรรมดาๆ เหล่านั้นอย่างคาดไม่ถึง ตื่นตัวที่สามคือ ตื่นรู้ จากเดิมที่เคยใช้ชีวิตตามใจชอบ เพราะผมเป็นคนมีเพื่อนฝูงมาก เวลาเจอกันก็จะเฮโลไปกินอาหารอร่อยๆ ดูภาพยนตร์ที่ชอบ ฟังเพลงของนักร้องวงโปรด ที่สำคัญคือ ดื่มจัดมาก แต่หลังจากผ่านกิจกรรมภาวนาของหมู่บ้านพลัมมา ผมก็ผนวกวิถีการปฏิบัติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และทำให้ผมรู้จัก ทางเลือกของตัวเองและมีจุดยืนที่เข้มแข็งมากขึ้น ปัจจุบันผมรู้แล้วว่า เราเลือกสิ่งที่เราจะเสพได้ ผมจึงรู้จักวิเคราะห์หาประโยชน์ของสิ่งต่างๆ มากขึ้น และเลือกเสพเฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตจริงๆ เท่านั้น ส่วนเรื่องการดื่ม ผมก็รู้แล้ว่าถ้าเพื่อนดื่มเหล้า แล้วเราดื่มน้ำเปล่าก็สนุกได้เหมือนกัน ผมจึงลดการดื่มลงจนเหลือแค่การดื่มตามมารยาทเท่านั้น วิธีปฏิบัติอีกอย่างที่ผมใช้อยู่เป็นประจำก็คือ การเชิญระฆังแห่งสติทุกๆ 15 นาที โดยผมได้ดาวน์โหลดเสียงระฆังจากเว็บไซด์ www.mindfulnessdc.org/mindfulclock.html มาไว้ที่คอมพิวเตอร์เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น ผมจะวางมือจากกิจกรรมที่ทำอยู่ แล้วกลับมาตามลมหายใจของตัวเองและผ่อนคลายอวัยวะที่เมื่อยล้า จนกว่าระฆังจะตีครบสามครั้ง การปฏิบัติเช่นนั้นก็คือการฝึกให้เรารู้จักที่จะ หยุด นั่นเอง ในขณะที่ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าต้องทำงานให้เสร็จก่อนจึงจะพักได้ แต่ในความเป็นจริง เมื่อเราทำงานนี้เสร็จ งานอื่นก็มาจ่อรออยู่แล้วการฝึกที่จะหยุดทุกๆ 15 นาที จึงช่วยให้เราได้ผ่อนคลายเป็นระยะๆ ซึ่งผลที่ได้คือ เราจะทำงานได้ทนขึ้นและเหนื่อยน้อยลง อีกสิ่งหนึ่งที่ผมปฏิบัติเป็นประจำก็คือ การพิจารณาอาหารด้วยการนำใจมาไว้ที่การเคี้ยวและชิมรส แล้วพิจารณาอาหารตามบทพิจารณาอาหาร 5 ประการของหมู่บ้านพลัม ดังนี้ ๑. อาหารนี้เป็นของกำนัลแห่งจักรวาล พื้นดิน ท้องฟ้า สรรพชีวิต และการทำงานหนัก ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ๒. ขอให้เรารับประทานอาหารอย่างมีสติและด้วยความระลึกรู้บุญคุณ เพื่อให้เรามีคุณค่าเพียงพอที่จะรับอาหารนี้ ๓. ขอให้เราตระหนักรู้และเปลี่ยนแปรสภาวะจิตที่ไม่ก่อประโยชน์โดยเฉพาะความโลภ ๔. ขอให้เราเพียงแต่รับประทานอาหารที่บำรุงหล่อเลี้ยงและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ๕. เรายอมรับอาหารนี้เพื่อที่เราจะได้บำรุงรักษาความรักฉันพี่น้องสร้างสังฆะ และหล่อเลี้ยงอุดมคติแห่งการรับใช้สรรพชีวิต
ประโยคที่ว่า เพื่อให้เรามีคุณค่าเพียงพอที่จะรับอาหารนี้ เป็นประโยคที่กระทบใจผมมาก เพราะเมื่อราเฝ้าถามตัวเองซ้ำๆว่าเรามีคุณค่าเพียงพอกับอาหารที่เรารับประทานหรือไม่ เมื่อนั้นเราก็จะมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง เพื่อให้เรามีคุณค่ามากขึ้นต่อโลกใบนี้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่เคยละเลยที่จะพิจารณาอาหารเลยแม้แต่มื้อเดียว
|