ไม่ร้อนใจแม้มีไฟสุมทรวง เรื่องโดย รองศาสตราจารย์ นพ.ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ

     “มีสุขก็ตัวฉัน มีทุกข์ก็เช่นกัน ทุกข์ใครไหนนั้นจะทุกข์แทนฉัน” ผมได้ยินเพลงนี้ขณะที่กำลังนั่งแท็กซี่ไปทำธุระพอดี คงเป็นเพราะผมขอให้คุณลงคนขับแท็กซี่ช่วยเร่งเสียงวิทยุให้ดังขึ้นอีก แกจึงเปรยขึ้นว่า “เป็นเพลงเก่ามากแล้ว แต่ฟังแล้วสบายใจดีนะครับ” เมื่อกลับมาค้นดูจึงรู้ว่าเป็นเพลง ฉันไม่แคร์ ซึ่งร้องโดย คุณนัดดา วิยะกาญจน์ เมื่อนานมาแล้ว

     สิ่งที่สะดุดใจผมมากคือ เนื้อร้องท่อนสุดท้ายที่ว่า “ไม่ร้อนใจ แม้มีไฟสุมทรวง” นี่สิ จะทำให้จริงๆ หรือ

     ท่านพุทธทาสภิกขุก็เคยสอนว่า “ชีวิตนี้มันเหมือนกับการหาจุดเย็นที่สุดในกลางเตาหลอม มันอยู่ที่ตรงกลาง ท่ามกลางความร้อนที่สุด ความเย็นที่สุดมันอยู่ที่นั่น” ซึ่งท่านเปรียบเทียบเพื่อหมายถึงความสุขสงบเย็นของจิตใจนั้น สามารถมีได้แม้ในสถานการณ์กดดันมากที่สุดมันจึงขึ้นอยู่กับว่า เรามีการวางใจในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไรนั่นเอง เข้าทำนองว่า สุขเป็น ก็เป็นสุขไงครับ

     การวางใจให้เย็น แม้อยู่ท่ามกลางเตาหลอมของชีวิตได้ คือการใช้พลังสมาธิประคับประคองจิตให้มั่นคง และมีพลังแห่งปัญญาคุ้มครองรักษาใจ ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของอารมณ์ที่กำลังโหมกระหน่ำดังเพลิงอันร้อนแรง จิตใจคนเราจึงเป็นสิ่งพิเศษมาก ที่สามารถนำพาชีวิตให้ทุกข์ใจ เดือดร้อนใจ จนอาจถึงขั้นทนการมีชีวิตต่อไปไม่ได้ แต่ในทางตรงข้าม จิตใจเดียวกันนั้นเองที่จะสามารถใช้เป็นเบ้าหลอมสู่การรู้แจ้งและพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้เช่นกัน

     เรามาทดลองใช้ความทุกข์เป็นเครื่องมือเพื่อศึกษาจิตใจกันให้ถึงแก่นดีไหมครับ ผมขอสรุปเป็นแนวทางดังนี้คือ เริ่มต้นจากการกำหนดให้ทันว่าอารมณ์ใดเกิดขึ้นในขณะนั้น และตามด้วยการยอมรับโดยไม่ปฏิเสธ เช่น ยอมรับว่าตอนนี้ฉันมีอารมณ์กังวลกับงาน ตอนนี้ใจฉันมีความเศร้าที่เขาทิ้งไป หรือฉันรู้สึกอิจฉาที่เห็นเขาได้รับรางวัลคำชมเชย

     ลองนึกภาพดูนะว่า เมื่อตอนกลับบ้านมาตอนเย็นแล้วพบกับสภาพบ้านที่รกมาก เสื้อผ้าใส่แล้วยังกองอยู่ตรงบันได เศษขนมถุงพลาสติก และสมุดหนังสือของลูกยังวางระเกะระกะอยู่ที่โต๊ะรับแขกแถมจากข้าวที่ทานเสร็จแล้วก็ยังอยู่ในอ่าง ไม่ล้างให้เรียบร้อย ทิ้งไว้จนมดขึ้นและแมลงสาบเดินไต่ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด ท่านคงไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่อยู่เบื้องหน้าโดยการเดินปิดตาไม่มอง แล้วหลอกตัวเองว่าบ้านของฉันสะอาดสะอ้าน ทุกอย่างถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

     แต่สิ่งที่จะต้องทำคือ การเปิดตามองและยอมรับว่าสภาพความเป็นจริงภายในบ้านของท่านเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับสภาพความเป็นจริงในจิตใจ ที่จะต้อง “เปิดใจ” ยอมรับโดยดุษณีย์ว่าจิตใจกำลังสุขหรือทุกข์ท่วมท้นเช่นไรอยู่ ผมขอเน้นอีกครั้งว่า มันเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งและเป็นก้าวแรกที่เราจะปรับเปลี่ยนปรับปรุงแก้ไขสภาพจิตใจนั้น

     ประการต่อมาซึ่งอาจฟังดูแปลกสักหน่อย แต่ผมขอเรียนว่ามันได้ผลจริงๆ คือ ขอให้ดื่มกินความทุกข์ระทมนั้นเข้าไป โดยไม่ระเบิดอารมณ์รุนแรงสู่สิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เก็บกดจนไม่รับรู้อารมณ์ แต่ให้อนุญาตความรู้สึกทุกข์ใจที่รุมเร้าอยู่ได้ดำรงอยู่อย่างที่เป็น ขณะที่ตัวท่านเองเฝ้ามองอย่างใส่ใจในความรู้สึก เหมือนกับการที่เราเก็บบ่มขยะหรือสิ่งปฏิกูลอย่างดี ทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพดีนำไปช่วยให้ต้นพืชงอกงาม หรือแม้แต่ซากพืชที่ทับถมเป็นเวลานานนับล้านๆ ปี ยังเปลี่ยนสภาพกลายเป็นน้ำมันดิบ ใช้เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลกได้ เช่นเดียวกับการบ่มรักษาอารมณ์ แม้เป็นทุกข์ทรมานใจ แต่มันจะกลายเป็นประโยชน์หล่อเลี้ยงการเติบโตทางจิตใจและจิตวิญญาณได้เช่นกัน

     คราวนี้ก็เริ่มสนุกแล้วนะครับ เราไม่ต้องเสียเงินมากมายไปเล่นนับจี้จั๊มป์ ไต่หน้าผมสูงเสี่ยงตาย หรือขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา เพื่อจะได้เผชิญกับความกลัว ความตื่นตระหนกตกใจ เพราะชีวิตมีสิ่งเหล่านี้หยิบยื่นให้เราได้พบแทบทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว แถมยังให้มากกว่าอีกคือให้ทั้งความกลัว กังวล ความโกรธหงุดหงิดใจ ความเศร้า เหงา โศกอาลัย และยังมีความคับแค้นขัดเคืองใจแถมให้อีกด้วย แล้วเราจะใช้อารมณ์เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

     ขั้นต่อไปในเรื่องการจัดการกับอารมณ์จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะ ( transrormation ) ผมขอยกตัวอย่างเทียบเคียงกับการจุดเทียนไข เนื้อเทียนส่วนที่ถูกความร้อนจะละลายเปลี่ยนแปลงสถานะจากของแข็งเป็นของเหลวคือน้ำตาเทียน น้ำตาเทียนทีหลอมละลายนั่นเองจะถูกไส้เทียนดูดเจ้าไปเผาไหม้และเปลี่ยนแปลงสภาวะอย่างสิ้นเชิงคือเปลี่ยนจากสสารกลายเป็นพลังงานความร้อนและแสงสว่าง

     วิธีการคือ ในขณะรับรู้อารมณ์แม้จะทุกข์กดดันเช่นใดก็ตาม ให้เราภาวนาโดยการอธิษฐาน ถามเบาๆ ในใจว่า ความทุกข์ใจเหล่านนี้กำลังให้บทเรียนใดกับชีวิต มีความหมายใดซ่อนอยู่ในกลุ่มก้อนของอารมณ์ที่กำลังกดดันเหล่านี้ หลังจากนั้นก็ให้บ่มเพาะจิตจนสงบต่อเนื่อง และเปิดใจรอคอยปัญญาญาณซึ่งจะเปิดเผยตนเองขึ้นมาเองในจิตใจเรา โดยไม่ต้องอาศัยการนึกคิดใดๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาวะความทุกข์ไปสู่ปัญญาบริสุทธิ์ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ซึ่งปัญญานี้จะเป็นเหมือนแสงสว่างนำพาให้ข้ามพ้นความทุกข์ที่กำลังกดดันจิตใจได้อย่างน่าอัศจรรย์ แล้วท่านจะทราบได้เองว่า สภาพที่เย็นที่สุดในกลางเตาหลอมเป็นเช่นไร

     กว่าที่จะทำได้อย่างที่เนื้อเพลงนี้บอกเอาไว้ คงไม่ง่ายนักแต่ก็เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถ แล้วเราจะได้ร่วมกันร้องเพลงนี้ด้วยกันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า

     ฉันจึงไม่แคร์จะแก่หรือตาย ฉันจึงไม่อายใครๆ ไม่แคร์ ไม่แยแส แม้โลกทลาย

     “ไม่ร้อนใจ แม้มีไฟสุมทรวง”